วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

๗๓ คำวินิจฉัยบุญกิริยวัตถุ ๑๐ ข้อว่า เวยยาวัจจะ เทสนา และอนุโมทนา

#๗๓อภิธัมมาวตาราวตาร : เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กามาวจรกุศลจิต : คำวินิจฉัยบุญกิริยวัตถุ ๑๐ ข้อว่า เวยยาวัจจะ เทสนา และอนุโมทนา

( เนื้อความช่วงนี้อยู่ใน #คัมภีร์อภิธัมมาวตาร๘ )

ได้กล่าวถึงปัตติทานมยปญญกิริยามาแล้วในคราวก่อนว่า ปัตติทานนั้น คือ การให้บุญหรือผลของบุญที่ตนทำมาแก่ผู้อื่นและได้แสดงวินิจฉัยว่า คือ กุศลกรรม คือ สิ่งที่ควรให้ ชื่อว่า ทาน และ ทานนั้น ต้องเป็นไปในลักษณะที่ผู้จะอนุโมทนาก็ควรจะอนุโมทนาได้ด้วย กุศลกรรมนั้นก็ได้ชื่อว่า ปัตติทาน. บัดนี้ก็จะได้นำสาระของปุญญกิริยาที่เหลือมีเวยยาวัจจะเป็นต้นมาแสดงให้ได้ทราบพอสังเขป.
ตามนัยของฎีกาอภิธัมมาวตารนี้ ท่านให้เวยยาวัจจะนี้ ได้แก่ เจตนาที่เป็นไปเนื่องด้วยการทำ #กิจใหญ่น้อย ( #วตฺตปฏิวตฺต )ต่อสมณพราหมณ์ และการบำรุงภิกษุป่วยไข้ แห่งบุคคลผู้ปราศจากความคาดหวังในปัจจัยมีจีวรเป็นต้น.
ท่านผู้เจริญท้ังหลาย เวยยาวัจจะสำคัญตรงข้อความนี้ ผู้ปราศจากความคาดหวังในปัจจัยมีจีวรเป็นต้น ส่วนนอกนี้เป็นเพียงตัวอย่างที่ยกมาให้สังเกตถึงการช่วยเหลือในกิจไม่มีโทษอย่างอื่นด้วย.
เทสนาบุญญกิริยา คือ เมื่อเป็นผู้ปราศจากจิตที่เพ่งถึงอามิสเพียงเล็กน้อยเป็นต้น ดำรงอยู่ในแนวทาง #วิมุตตายตนะ คือ ธรรมเป็นเหตุแห่งวิมุติแล้วแสดงธรรมอันคล่องแคล่วของตน รวมไปถึงผู้สอนแสดงสาธิตศิลปะเป็นเหตุแห่งการงานไม่มีโทษ.
ส่วนอนุโมทนามยบุญญกิริยานั้น ได้แก่ เจตนาที่เป็นไปโดยละความตระหนี่และริษยาแล้วอนุโมทนาความดีหรือแม้ผลกรรมดีที่ผู้อื่นให้อย่างใดอย่างหนึ่ง
( #กิจใหญ่น้อย ออกมาจากศัพท์บาลีว่า #วตฺตปฏิวตฺต คัมภีร์สังยุตตฎีกาให้ความหมายว่า วตฺต คือ กิจที่ควรทำก่อน ส่วนปฏิวตฺต คือ กิจอื่นที่ควรทำภายหลัง, อีกนัยหนึ่ง วตฺต คือ กิจใหญ่, ปฏิวตฺต คือ กิจเล็กน้อย สรุปว่า กิจทุกอย่างนั่นเอง ชื่อว่า วตฺตปฏิวตฺต)
( #วิมุตตายตนะ หมายถึง ธรรมอันเป็นเหตุแห่งวิมุตติที่มาในวิมุตตายนสูตร คือ การฟัง แสดงธรรมโดยพิสดาร สาธยายธรรม ตรึกตรองธรรม และแทงตลอดสมาธินิมิตที่ได้เล่าเรียนมานั้น. ภิกษุผู้ประพฤติกิจ ๕ เหล่านั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมบรรลุอรหัตตผลวิมุตติได้, ดังนั้น เมื่อภิกษุดำรงอยู่ในวิถีแห่งวิมุตตายตนะคือแสดงธรรมแก่ภิกษุเหล่าอื่นโดยไม่เห็นแก่อามิสเล็กน้อย บุญกุศลของภิกษุนี้เรียกว่า เทสนามยปุญญกิริยาวัตถุ, แม้ในทางโลก วิชชายตนะ ก็คือ เรื่องราวที่เป็นเหตุให้เกิดความรู้ ก็มีนัยนี้.)

ขออนุโมทนา

สมภพ สงวนพานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น