วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2559

๗๖ สวนมัย

#๗๖อภิธัมมาวตาราวตาร : เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร

กามาวจรกุศลจิต : คำวินิจฉัยบุญกิริยวัตถุ ๑๐ ข้อว่า สวนมัย 

( เนื้อความช่วงนี้อยู่ใน #คัมภีร์อภิธัมมาวตาร๘ )
เมื่อคราวที่แล้วได้แสดงวินิจฉัยเกี่ยวกับบุญญกิริยาไปแล้วหลายข้อ บัดนี้จะได้แสดงปกิณณกวินิจฉัยในปุญญกิริยาที่เหลือสืบไป
          สวนมยบุญกิริยา ก็คือ การที่ได้ฟังพระสัทธรรมโดยแนวทางแห่ง #วิมุตตายตนะ (ดูใน #๗๓อภิธัมมาวตาราวตาร ) ไม่ว่าจะเป็นของตนหรือผู้อื่นก็ตาม ด้วยตั้งจิตไว้อย่างนีีว่า เราครั้นได้ฟังธรรมอย่างนี้ปฏิบัติตามที่ท่านกล่าวไว้ในที่นั้นแล้วจักบรรลุคุณวิเศษทั้งโลกียะและโลกุตระ. หรือ เราเป็นพหูสูตแล้วจักอนุเคราะห์ผู้อื่นด้วยธรรมเทศนาสืบไป” บุญกุศลชนิดนี้เรียกว่า สวนมยบุญกิริยาวัตถุ.
          (บัณฑิตพึงทราบว่า การฟังธรรมมีอานิสงส์หรือจะมีเป้าหมายสูงสุดคือได้บรรลุอานิสงส์ดังกล่าว และอาจสามารถบอกสอนแก่ผู้อื่นได้ ตามที่ต้องการ ซึ่งควรเป็นสิ่งที่ควรตั้งไว้ในใจอย่างนี้ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในวิมตตายตนสูตร.  กรณีนี้เป็นการแสดงโดยอุกกัฏฐนัย คือ นัยแห่งการแสดงอย่างสูงสุด. อย่างไรก็ตาม แม้เมื่อไม่อาจทำตามเป้าหมายสูงสุดนั้นได้เป็นไป การฟังธรรมก็จะอำนวยอานิสงส์อื่น อาทิ ความเเป็นผู้มีปัญญามากเป็นต้นด้วย มีอุทาหรณ์มากมายที่อาทิ การได้ยินบทธรรมของสองสามีภรรยาในครั้งอดีต แม้จะไม่รู้อรรถของเทศนาการได้ยินบทธรรมก็เป็นปัจจัยให้บรรลุธรรมได้ง่ายในครั้งนี้ และแม้สัทธิวิหาริกของพระสารีบุตร ๕๐๐ รูปที่อดีตชาตเป็นค้างคาว ได้สดับการสาธยายพระอภิธรรม แม้ไม่รู้เรื่องแต่เพราะถือนิมิตในเสียง ก็ได้ปัจจัยนั้นมาเป็นพระผู้ชำนาญพระอภิธรรมได้ ซึ่งอุทาหรณ์เหล่านี้เป็นเครื่องแสดงอานิสงส์โดยอ้อมของการฟังธรรม)
          ส่วนแม้การฟังหรือศึกษาเล่าเรียนวิชาการอื่นๆ ที่ไม่มีโทษก็สงเคราะห์เข้าในข้อนี้.

ขออนุโมทนา

สมภพ สงวนพานิช

วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2559

๗๕ ทิฏฐุชุกัมม์ (ทิฏฐุชุตตะ) จบ

#๗๕อภิธัมมาวตาราวตาร : เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กามาวจรกุศลจิต : คำวินิจฉัยบุญกิริยวัตถุ ๑๐ ข้อว่า ทิฏฐุชุกัมม์ (ทิฏฐุชุตตะ) จบ 

            ***** อ่าน  อภิธัมมาวตาร ๘   ประกอบด้วยครับ
เมื่อคราวที่แล้ว ได้แสดงทิฏฐุชุกัมม์โดยนัยที่หนึ่งแล้ว ยังมีอีกแนวคิดหนึ่งที่ควรทราบเหมือนกัน กล่าวคือ
ที่เราเรียกกัน ความเห็น ความคิดเห็น ว่า ทิฏฐิ นั้น อันที่จริงก็ได้แก่ จิต อย่างหนึ่ง ปัญญาอย่างหนึ่ง โดยเนื่องด้วยเป็นสภาพเห็นแจ้งอารมณ์ และ เป็นสภาพรู้เห็นจริงตามสภาวะ. ในที่นี้ ความเห็นตรงอย่างถูกต้อง ได้แก่  วิญญาณอันเป็นกุศล (กุศลจิต) และปัญญาญาณมีกัมมัสสกตาญาณเป็นต้น ชื่อว่า ทิฏฐุชุตตะ. ดังนั้น การระลึกถึงสุจริต, การสรรเสริญและการเข้าถึงคุณผู้อื่น แห่งตน สงเคราะห์เข้าไปในการเกิดขึ้นแห่งญาณ โดยเป็นกุศลจิต  และในกัมมปถสัมมาทิฏฐิ (กรรมบถข้อมโนกรรมคือสัมมาทิฏฐิ) โดยเป็นกัมมัสกตาญาณ.

แต่ในกรณีญาณอันสัมปยุตกับเจตนามีทานเป็นต้น พึงทราบว่า ญาณก็เป็นอันรวมอยู่ภายในทานนั่นเอง
(หมายความว่า ทิฏฐุชุตตะนี้ ถ้าเล็งเอาว่าเป็นกุศลจิต บุญเหล่านี้คือ การระลึกถึงสุจริตเป็นต้นเหล่านี้ ก็จัดเป็นญาณที่เกิดขึ้นในจิต. จิตชื่อว่า มีความเห็นตรง. แต่ถ้าเล็งเอาว่าเป็นกัมมัสสกตาญาณ บุญเหล่านี้ก็เป็นสัมมาทิฏฐิอันเป็นมโนกรรมในกรรมบถ. ญาณ ชื่อว่า ความเห็นตรงไม่เกี่ยวกับจิต. เมื่อเป็นเช่นนี้ กรณีที่ญาณเกิดร่วมกับเจตนาอย่างอื่น เช่นการเล็งเห็นว่าทานมีผลเป็นต้นในขณะให้หรือก่อนหลังเป็นต้น ก็ถือเป็นทานมัยบุญกิริยานั่นเอง ไม่ใช่ทิฏฐุชุกัมมบุญกิริยา)

ท่านสาธุชนทั้งหลาย เนื้อหาพระธรรมในฝ่ายพระอภิธรรม มีความลึกซึ้ง เพราะสภาวธรรมมีสภาพลึกซึ้ง เป็นอารมณ์ของพระสัพพัญญุตญาณ ไม่ใช่วิสัยที่จะตรึกตรองเอง  ดังนั้น  เทสนาธรรมในฝ่ายนี้ จะช่วยฝึกความคิด อบรมสุตปัญญาให้มีมากขึ้น อันจะต่อยอดถึงการหลุดพ้นจากกิเลสโดยสิ้นเชิงผนวกด้วยปฎิสัมภิทาญาณคมกล้า สมกับคำที่กล่าวกันว่า “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา” ขอท่านทั้งหลายอย่าได้คิดแหนงหน่ายว่า “พระธรรมอะไรหนอ ช่างยากเย็นเสียนี่กระไร” ดังนี้แล้วก็พากันเลิกล้มความเพียรไปเสีย ขอจงทำไว้ในใจอย่างนี้เถิดว่า “เราจักศึกษาไว้เพื่อเป็นผู้รักษาพระธรรมของพระพุทธองค์ ผู้เป็นพระบรมศาสดา ดุจขุนคลังรักษาสมบัติแห่งพระราชาไว้ฉะนั้น”

ขออนุโมทนา

สมภพ สงวนพานิช

วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559

๗๔ ทิฏฐุชุกัมม์ (ทิฏฐุชุตตะ)

#๗๔อภิธัมมาวตาราวตาร : เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กามาวจรกุศลจิต : คำวินิจฉัยบุญกิริยวัตถุ ๑๐ ข้อว่า ทิฏฐุชุกัมม์ (ทิฏฐุชุตตะ) 
( เนื้อความช่วงนี้อยู่ใน #คัมภีร์อภิธัมมาวตาร๘ )
http://aphidhammavatara.blogspot.com/2016/05/blog-post_79.html

ได้กล่าวถึงกุศลจิตที่เป็นไปในลักษณะคือบุญกิริยาวัตถุมาโดยลำดับ คราวนี้จะได้กล่าวถึงการทำความเห็นให้ตรงต่อความเป็นจริงที่เรียกว่า ทิฏฐุชุตตะ ตามอภิธัมมาวตารนี้ แต่เราท่านจะรู้จักในนามว่า ทิฏฐุชุกรรม นั่นเอง

เมื่อเราได้ทำความเห็นให้ตรงต่อความเป็นจริงโดยก้มมัสสกตาญาณ คือ ปัญญาที่รู้ ที่เข้าใจ ที่มีความเห็นถูกต้องว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นต้น อย่างนี้ว่า ทานที่ให้แล้วมีผล เป็นต้น อย่างนี้ชื่อว่า ได้ทำบุญกิริยาข้อที่ว่า ทิฏฐุชุกรรมนี้ให้สำเร็จแล้ว กุศลที่เป็นไปในเวลานั้น ก็เป็นอันเกิดร่วมกับปัญญา.

#ปัญหาน่าสงสัย
ถาม ถ้าอย่างนั้น บุญกิริยาข้อนี้เกิดได้เฉพาะญาณสัมปยุตจิต คือ จิตที่เกิดร่วมกันปัญญาอย่างนี้เท่านั้น นะสิ, ไม่เกิดกับญาณวิปยุตจิตใช่ไหม?

ตอบ จะไม่เกิดก็หามิได้, เพราะได้มีการสงเคราะห์เอาเจตนาที่เกิดในคราวแรกและคราวหลังไว้ในบุญกิริยาทุกข้ออยู่แล้ว ดังนั้น ถึงแม้เมื่อเคยเกิดกัมมัสสกตาญาณมาก่อน แม้เมื่อทำจิตดวงที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา หรือที่เรียกว่า ญาณวิปยุตจิตให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะก่อนหน้าหรือภายหลัง ก็ได้ชื่อว่า เป็นอันได้ทำบุญกิริยาข้อนี้แล้ว. เรื่องนี้ท่านสาธุชนจะพบว่า ในคัมภีร์อภิธัมมาวตารนี้จะกล่าวยืนยันความข้อนี้ไว้ว่า

‘‘ปุริมา มุญฺจนา เจว, ปรา ติสฺโสปิ เจตนา;
โหติ ทานมยํ ปุญฺญํ, เอวํ เสเสสุ ทีปเย’’ติฯ
ในบุญข้อทานมัย มีเจตนา ๓ คือ ปุริมเจตนา มุญจนเจตนา และปรเจตนา. ในบุญข้อที่เหลือ บัณฑิตพึงแสดงเจตนา ๓ ได้อย่างนั้น เหมือนกัน.

เป็นอันสรุปได้ว่า ไม่ว่าจะกาลไหนๆ คือ ก่อนทำ กำลังทำ และภายหลัง ทำกรรมนั้น ก็ได้ชื่อว่า ทำความเห็นให้ตรงแล้ว แต่อาจมีข้อแม้ว่า ท่านจะต้องทำความเห็นให้ตรงด้วยอำนาจกัมมัสกตาญาณนี้ไว้ก่อน บุญนี้ย่อมสำเร็จแก่ท่านสาธุชนโดยแน่นอน ไม่ว่าจะก่อนหน้าหรือภายหลังก็ตาม

---

ขออนุโมทนา

สมภพ สงวนพานิช