วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559

๗๔ ทิฏฐุชุกัมม์ (ทิฏฐุชุตตะ)

#๗๔อภิธัมมาวตาราวตาร : เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กามาวจรกุศลจิต : คำวินิจฉัยบุญกิริยวัตถุ ๑๐ ข้อว่า ทิฏฐุชุกัมม์ (ทิฏฐุชุตตะ) 
( เนื้อความช่วงนี้อยู่ใน #คัมภีร์อภิธัมมาวตาร๘ )
http://aphidhammavatara.blogspot.com/2016/05/blog-post_79.html

ได้กล่าวถึงกุศลจิตที่เป็นไปในลักษณะคือบุญกิริยาวัตถุมาโดยลำดับ คราวนี้จะได้กล่าวถึงการทำความเห็นให้ตรงต่อความเป็นจริงที่เรียกว่า ทิฏฐุชุตตะ ตามอภิธัมมาวตารนี้ แต่เราท่านจะรู้จักในนามว่า ทิฏฐุชุกรรม นั่นเอง

เมื่อเราได้ทำความเห็นให้ตรงต่อความเป็นจริงโดยก้มมัสสกตาญาณ คือ ปัญญาที่รู้ ที่เข้าใจ ที่มีความเห็นถูกต้องว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นต้น อย่างนี้ว่า ทานที่ให้แล้วมีผล เป็นต้น อย่างนี้ชื่อว่า ได้ทำบุญกิริยาข้อที่ว่า ทิฏฐุชุกรรมนี้ให้สำเร็จแล้ว กุศลที่เป็นไปในเวลานั้น ก็เป็นอันเกิดร่วมกับปัญญา.

#ปัญหาน่าสงสัย
ถาม ถ้าอย่างนั้น บุญกิริยาข้อนี้เกิดได้เฉพาะญาณสัมปยุตจิต คือ จิตที่เกิดร่วมกันปัญญาอย่างนี้เท่านั้น นะสิ, ไม่เกิดกับญาณวิปยุตจิตใช่ไหม?

ตอบ จะไม่เกิดก็หามิได้, เพราะได้มีการสงเคราะห์เอาเจตนาที่เกิดในคราวแรกและคราวหลังไว้ในบุญกิริยาทุกข้ออยู่แล้ว ดังนั้น ถึงแม้เมื่อเคยเกิดกัมมัสสกตาญาณมาก่อน แม้เมื่อทำจิตดวงที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา หรือที่เรียกว่า ญาณวิปยุตจิตให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะก่อนหน้าหรือภายหลัง ก็ได้ชื่อว่า เป็นอันได้ทำบุญกิริยาข้อนี้แล้ว. เรื่องนี้ท่านสาธุชนจะพบว่า ในคัมภีร์อภิธัมมาวตารนี้จะกล่าวยืนยันความข้อนี้ไว้ว่า

‘‘ปุริมา มุญฺจนา เจว, ปรา ติสฺโสปิ เจตนา;
โหติ ทานมยํ ปุญฺญํ, เอวํ เสเสสุ ทีปเย’’ติฯ
ในบุญข้อทานมัย มีเจตนา ๓ คือ ปุริมเจตนา มุญจนเจตนา และปรเจตนา. ในบุญข้อที่เหลือ บัณฑิตพึงแสดงเจตนา ๓ ได้อย่างนั้น เหมือนกัน.

เป็นอันสรุปได้ว่า ไม่ว่าจะกาลไหนๆ คือ ก่อนทำ กำลังทำ และภายหลัง ทำกรรมนั้น ก็ได้ชื่อว่า ทำความเห็นให้ตรงแล้ว แต่อาจมีข้อแม้ว่า ท่านจะต้องทำความเห็นให้ตรงด้วยอำนาจกัมมัสกตาญาณนี้ไว้ก่อน บุญนี้ย่อมสำเร็จแก่ท่านสาธุชนโดยแน่นอน ไม่ว่าจะก่อนหน้าหรือภายหลังก็ตาม

---

ขออนุโมทนา

สมภพ สงวนพานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น