วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๖๘. กามาวจรกุศลจิต ๘ ดวงโดยบุญกิริยวัตถุ ๑๐

#๖๘อภิธัมมาวตาราวตาร : เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กามาวจรกุศลจิต : ความเป็นไปของกามาวจรกุศลจิต ๘ ดวงโดยบุญกิริยวัตถุ ๑๐

ดู #คัมภีร์อภิธัมมาวตาร๘

จิต ๘ ดวง ได้ชื่อว่า กามาวจร ด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ เที่ยวไปในกามตลอดกาลโดยส่วนมาก ๑, ทำปฏิสนธิให้เที่ยวไปในกาม ๑, นับเนื่องในกามาวจร ๑ และ ชื่อว่า กุศล เพราะกำจัดบาป เป็นต้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า กามาวจรกุศลจิต เพราะเป็นกามาวจร ด้วย กามาวจรนั้น เป็น กุศลด้วย จึงชื่อว่า กามาวจรกุศล.

ก็กามาวจรกุศลจิต ๘ ดวงเหล่านั้น มีความเป็นไปอย่างไรบ้าง

๒๐. 
      อิทํ อฏฺฐวิธํ จิตฺตํ,             กามาวจรสญฺญิตํ;
   ทสปุญฺญกฺริยวตฺถุ-           วเสเนว ปวตฺตติฯ

จิตที่ได้ชื่อว่า กามาวจร ๘ อย่างนี้ ย่อมเป็นไปด้วยสามารถแห่งบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ นั่นเทียว.

บุญกิริยาประเภทใดประเภทหนึ่ง ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ ย่อมเป็นเหตุให้จิต ๘ ดวงนี้เกิดขึ้น.  ในที่นี้จะแสดงเรื่องเหล่านี้โดยสังเขป พอเป็นเครื่องประกอบของกามาวจรกุศลจิต เรื่องนี้มาในอรรถกถาอภิธรรมชื่อว่า อัฏฐสาลินี และคัมภีร์อื่นๆฝ่ายพระสูตรมากแล้ว ขอท่านสาธุชนค้นหาความพิสดารในนั้นเถิด.

          พระฎีกาจารย์แสดงไว้ในคัมภีร์ฎีกาอภิธัมมาวตาร บุญกิริยาวัตถุ โดยแยกศัพท์นี้ออกเป็น ๓ คือ

          บุญ คือ สภาวะทำให้เกิดผลน่าบูชา และ เป็นสภาวะชำระสันดานของตน
          กิริยา คือ กรรมอันควรทำ
          วัตถุ คือ เหตุอันเป็นที่ต้้งของอานิสงส์เหล่านั้นๆ.

          และเมื่อนำสามศัพท์รวมกัน ก็ได้ความว่า บุญนั้นเป็นสิ่งที่ควรทำ ชื่อว่า บุญกิริยา,  บุญกิริยานั้นคือวัตถุ เพราะเป็นที่ตั้งคือเป็นเหตุแห่งอานิสงส์ต่างๆ จึงชื่อว่า บุญกิริยาวัตถุ.

          จิต ๘ ดวงเหล่านี้แหละ ก็คือบุญกิริยาวัตถุทั้ง ๑๐ ประการนั้นทีเดียว  จึงหมายความว่า เมื่อจิตดวงนี้เป็นไป ก็ย่อมเป็นไปโดยเป็นบุญกิริยาวัตถุได้ทั้ง ๑๐ ซึ่งต่างจากรูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล และโลกุตรกุศลที่เป็นไปโดยภาวมยกุศลอย่างเดียวเท่านั้น.

          ยังมีความหมายอีกนัยหนึ่ง คือ จิต ๘ ดวงนี้แหละ ย่อมเป็นไปโดยเป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ อย่างนี้เท่านั้น จะเป็นไปโดยบุญกิริยาวัตถุมีการสรรเสริญเทพอื่นเป็นต้น ที่พวกเดียรถีย์ฝ่ายอื่นตั้งขึ้น ก็หามิได้. เรื่องนี้ พระฎีกาจารย์บอกว่า จะมีรายละเอียดให้ติดตามในข้อความว่า “บุญคืออนุสสติทั้งปวง” เป็นต้น ที่จะมาถึงในคราวต่อๆไป.

          ขออนุโมทนา
          สมภพ สงวนพานิช

วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๖๘ : ความเป็นไปของกามาวจรกุศลจิต ๘ ดวงโดยบุญกิริยวัตถุ ๑๐

#๖๘อภิธัมมาวตาราวตาร เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กามาวจรกุศลจิต : ความเป็นไปของกามาวจรกุศลจิต ๘ ดวงโดยบุญกิริยวัตถุ ๑๐

( เนื้อความช่วงนี้อยู่ใน #คัมภีร์อภิธัมมาวตาร๘ )

จิต ๘ ดวง ได้ชื่อว่า กามาวจร ด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ เที่ยวไปในกามตลอดกาลโดยส่วนมาก ๑, ทำปฏิสนธิให้เที่ยวไปในกาม ๑, นับเนื่องในกามาวจร ๑ และ ชื่อว่า กุศล เพราะกำจัดบาป เป็นต้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า กามาวจรกุศลจิต เพราะเป็นกามาวจร ด้วย กามาวจรนั้น เป็น กุศลด้วย จึงชื่อว่า กามาวจรกุศล.
ก็กามาวจรกุศลจิต ๘ ดวงเหล่านั้น มีความเป็นไปอย่างไรบ้าง

๒๐. อิทํ อฏฺฐวิธํ จิตฺตํ,             กามาวจรสญฺญิตํ;
   ทสปุญฺญกฺริยวตฺถุ-           วเสเนว ปวตฺตติฯ
๒๐. จิตที่ได้ชื่อว่า กามาวจร ๘ อย่างนี้ ย่อมเป็นไปด้วยสามารถแห่งบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ นั่นเทียว.

บุญกิริยาประเภทใดประเภทหนึ่ง ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ ย่อมเป็นเหตุให้จิต ๘ ดวงนี้เกิดขึ้น.  ในที่นี้จะแสดงเรื่องเหล่านี้โดยสังเขป พอเป็นเครื่องประกอบของกามาวจรกุศลจิต เรื่องนี้มาในอรรถกถาอภิธรรมชื่อว่า อัฏฐสาลินี และคัมภีร์อื่นๆฝ่ายพระสูตรมากแล้ว ขอท่านสาธุชนค้นหาความพิสดารในนั้นเถิด.

          พระฎีกาจารย์แสดงไว้ในคัมภีร์ฎีกาอภิธัมมาวตาร บุญกิริยาวัตถุ โดยแยกศัพท์นี้ออกเป็น ๓ คือ

          บุญ คือ สภาวะทำให้เกิดผลน่าบูชา และ เป็นสภาวะชำระสันดานของตน

          กิริยา คือ กรรมอันควรทำ

          วัตถุ คือ เหตุอันเป็นที่ต้้งของอานิสงส์เหล่านั้นๆ.

          และเมื่อนำสามศัพท์รวมกัน ก็ได้ความว่า บุญนั้นเป็นสิ่งที่ควรทำ ชื่อว่า บุญกิริยา,  บุญกิริยานั้นคือวัตถุ เพราะเป็นที่ตั้งคือเป็นเหตุแห่งอานิสงส์ต่างๆ จึงชื่อว่า บุญกิริยาวัตถุ.

          จิต ๘ ดวงเหล่านี้แหละ ก็คือบุญกิริยาวัตถุทั้ง ๑๐ ประการนั้นทีเดียว  จึงหมายความว่า เมื่อจิตดวงนี้เป็นไป ก็ย่อมเป็นไปโดยเป็นบุญกิริยาวัตถุได้ทั้ง ๑๐ ซึ่งต่างจากรูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล และโลกุตรกุศลที่เป็นไปโดยภาวมยกุศลอย่างเดียวเท่านั้น.

          ยังมีความหมายอีกนัยหนึ่ง คือ จิต ๘ ดวงนี้แหละ ย่อมเป็นไปโดยเป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ อย่างนี้เท่านั้น จะเป็นไปโดยบุญกิริยาวัตถุมีการสรรเสริญเทพอื่นเป็นต้น ที่พวกเดียรถีย์ฝ่ายอื่นตั้งขึ้น ก็หามิได้. เรื่องนี้ พระฎีกาจารย์บอกว่า จะมีรายละเอียดให้ติดตามในข้อความว่า “บุญคืออนุสสติทั้งปวง” เป็นต้น ที่จะมาถึงในคราวต่อๆไป.

          ขออนุโมทนา

          สมภพ สงวนพานิช

๖๗/๑ : แม้จิตก็ชื่อว่า กามาวจร ด้วยเหตุที่นับเนื่องในกาม (ต่อ)

#๖๗/๑อภิธัมมาวตาราวตาร เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กามาวจรกุศลจิต : แม้จิตก็ชื่อว่า กามาวจร ด้วยเหตุที่นับเนื่องในกาม (ต่อ)

( เนื้อความช่วงนี้อยู่ใน #คัมภีร์อภิธัมมาวตาร๗ )

ชื่อว่า กามาวจร จึงที่มาดังต่อไปนี้
กามตัณหา คือ กาม, กามนั้น ย่อมเที่ยวไปในกามภพนี้ ด้วยอำนาจการทำให้เป็นอารมณ์ ดังนั้น กามภพนี้ ชื่อว่า กามาวจร เป็นที่เที่ยวไปของกามตัณหา.

#ปัญหาน่าสงสัย

ถาม กามตัณหา ก็คือ ตัณหาที่มีกามาจรธรรมเป็นอารมณ์, และ กามาจรธรรม ก็คือ ธรรมอันเป็นอารมณ์ของตัณหา เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะมีปัญหาที่ว่า ต่างฝ่ายก็เป็นเหตุของกันและกันได้หรือ?

ตอบ, ไม่เป็นปัญหาใดๆทั้งสิ้นหรอก, เพราะเมื่อกำหนดให้กามอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นกามตัณหาโดยแผ่ไปใน ๑๑ แห่งมีอวีจิมหานรกเป็นต้น ฉะนี้แล้ว ก็ควรกำหนดกามาวจรธรรมโดยความเป็นอารมณ์ของกามตัณหาที่มีสภาพเช่นนั้น (เท่านั้น).

อีกนัยหนึ่ง กามทั้งสองคือกิเลสกามและวัตถุกาม ย่อมเที่ยวไปจิตนี้ ด้วยอำนาจเป็นไปร่วมกัน ตามควร เพราะเหตุนั้น จิตนี้ จึงชื่อว่า กามาวจร,

อีกนัยหนึ่ง จิตนั้น ย่อมเที่ยวไปในกามแม้ทั้งสองนั้น ด้วยอำนาจทำให้เป็นอารมณ์ เหตุนั้น จิตนั้น ชื่อว่า กามาวจร.

อีกนัยหนึ่ง แม้จิตนี้ มีชื่อเรียกว่า กามาวจร เนื่องด้วยความเป็นไปในกามาวจรภพ  โดยนิสสยโวหาร (โวหารกล่าวพาดพิงที่อยู่แต่หมายถึงสิ่งที่มาอาศัยอยู่) เพราะเป็นสภาพที่อาศัยกามาวจรภพนัั้น เหมือนอย่างที่ชาวโลกพูดถึงผู้ที่อยู่บนเตียงส่งเสียงโห่ร้องเสียงดังว่า เตียงโห่ร้อง ก็โดยเอาที่อาศัยเข้าไปในผู้ที่อาศัย เพราะเขารู้กันอยู่ว่า ผู้อยู่ และสถานที่อยู่ก็เหมือนกัน.

จึงสรุปได้ว่า จิตชื่อว่า กามาวจร “นับเนื่องในกามภพ” จิต เพราะอาศัยเหตุเหล่านี้ คือ

เป็นที่เที่ยวไปแห่งกามทั้งสอง โดยความเป็นธรรมที่เกิดร่วมกันได้บ้างตามควร,
เป็นธรรมชาติเป็นไปในกามภพโดยทำให้เป็นอารมณ์ ,
ใช้คำว่า กามาวจร คือ กามภพ แทนตนที่เป็นไปในกามาวจรนั้น (ฐานูปจาระ)

ขออนุโมทนา

สมภพ สงวนพานิช

๖๗ : แม้จิตก็ชื่อว่า กามาวจร ด้วยเหตุที่นับเนื่องในกาม (ต่อ)

#๖๗อภิธัมมาวตาราวตาร เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กามาวจรกุศลจิต : แม้จิตก็ชื่อว่า กามาวจร ด้วยเหตุที่นับเนื่องในกาม (ต่อ)

( เนื้อความช่วงนี้อยู่ใน #คัมภีร์อภิธัมมาวตาร๗ )

ตามที่กล่าวมาในคราวที่แล้วว่า กามาวจรจิต คือ จิตที่นับเนื่องอยู่ในกามภพ เพราะแม้เป็นไปในรูปภพและอรูปภพ ก็ยังชื่อว่า กามาวจรอยู่นั่นเอง.  ข้อนี้ควรยุตติด้วยอาคมยุตติ คือ มีหลักฐานอ้างอิงข้อความที่กล่าวมา และสภาวยุตติ คือ ความถูกต้องตามสภาวะคืออาการที่นับเนื่องอยู่ในกามภพ.

ก่อนอื่น มีหลักฐานในบาฬีธัมมสังคณี กามาวจรกุศล (๓๔/๘๒๘)

[๘๒๘] ธรรมเป็นกามาวจร เป็นไฉน?
ขันธ์ ธาตุ อายตนะ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งท่องเที่ยวอยู่นับเนื่องอยู่ ในภูมิระหว่างนี้ คือ เบื้องต่ำกำหนดอเวจีนรกเป็นที่สุด เบื้องสูงกำหนดเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตีเป็นที่สุด อันใด สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมเป็นกามาวจร.

ข้อความพระบาฬีเหล่านี้สนับสนุนความที่กุศลจิต ๘ ดวงนี้เป็นธรรมที่นับเนื่องอยู่ในกามภพ อันจับตั้งแต่อวีจิมหานรกไปจนถึงเทวโลกชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ด้วยเหตุนี้ กุศลจิตจึงชื่อว่า กามาวจรธรรม.

ส่วนข้อที่ว่า อาการที่นับเนื่องอยู่ในกามภพ ได้แก่ ความที่กามาวจรธรรมนี้เป็นอารมณ์ของกามตัณหาที่แผ่ไปในสถานที่อันกำหนดด้วยอวีจิมหานรกและเทวโลกชั้นปรนิมมิตวสวัตตีนั้น. สมดังที่พระอาจารย์ธัมมปาละได้อธิบายความข้อนี้ไว้คัมภีร์ธัมมสังคณีอนุฎีกา นิกเขปกัณฑ์ ว่า “คำว่า ท่องเที่ยวอยู่ในภูมิระหว่างนี้ หมายถึงความเป็นอารมณ์ของกามตัณหาที่ถูกกำหนดพื้นที่ไว้ด้วยอวีจิมหานรกและเทวโลกชั้นปรนิมมิตวสวัตตี”. 

นี้จัดเป็นสภาวะของกามาวจรจิตที่เป็นอารมณ์ของกามตัณหาได้ จึงเหมาะสมต่อความเป็นจิตที่นับเนื่องในกามวจรในด้านสภาวะได้.

อาศัยอาคมยุตติและสภาวยุตติ จึงเป็นอันสรุปข้อความนี้ได้ว่า

แม้กุศลจิต ๘ ดวงนี้ก็ชื่อว่า นับเนื่องในกามาวจร เพราะถูกกามตัณหาทำให้เป็นอารมณ์.

ขออนุโมทนา

สมภพ สงวนพานิช

๖๖ : แม้จิตก็ชื่อว่า กามาวจร ด้วยเหตุที่นับเนื่องในกาม

#๖๖อภิธัมมาวตาราวตาร เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กามาวจรกุศลจิต : แม้จิตก็ชื่อว่า กามาวจร ด้วยเหตุที่นับเนื่องในกาม

( เนื้อความช่วงนี้อยู่ใน #คัมภีร์อภิธัมมาวตาร๗ )

ได้กล่าวถึงเหตุที่ทำให้เกิดหรือมีคำว่า กามาวจร มีอยู่ ๓ คือ การท่องเที่ยวไปโดยส่วนมากในกาม, การเป็นเหตุให้ปฏิสนธิเป็นไปในกาม และการที่นับเนื่องในกาม. บัดนี้จะกล่าวถึงเหตุที่ ๓ คือ การที่กุศลจิต ๘ ดวงนี้ ยังคงนับเนื่อง มีความเกี่ยวข้องอยู่ในกามภพ.

คำว่า กามาวจรจิต ในความหมายนี้มาจาก กามาวจร จิต  

กามาวจร กามภพ

จิต = นับเนื่อง คือ ทำให้เป็นอารมณ์

เมื่อเวลาประกอบศัพท์เป็นกามาวจร แปลว่า จิตนับเนื่องในกามาวจร คำว่า จิตเป็นความหมายแฝงอยู่ใน กามาวจร นั้นแล้ว.

คำว่า  กามาวจร ในที่นี้ต่างกับ กามาวจร ในความหมายที่แล้วมา คือ  
       
ในคำว่า กามาวจร ที่แปลว่า จิตที่ท่องเที่ยวไปในกามภพ หรือ ที่ยังปฏิสนธิให้ท่องเที่ยวไปในกามภพ มาจาก คำว่า กามาวจร และลบอวจร เหลือเพียง กาม คือกามภพ + อวจร แปลว่า จิตที่ท่องเที่ยวหรือทำให้ปฏิสนธิท่องเที่ยว. แต่ในที่นี้ คำว่า กามาวจร ก็คือ กามภพ นั่นแหละ แต่ไม่ลบ อวจร คงรูปเดิมเป็น กามาวจร นั่นเอง. ต่อมานำมารวมกับคำว่า จิต จึงเรียกว่า กามาวจรจิต โดยใช้ในความหมายว่า จิตที่นับเนื่อง ตกอยู่ภายใน หรือนับรวมเข้ากับกามาวจรภพนั่นเอง. แต่ในเวลาที่ใช้เรียกก็เรียกว่า กามาวจรเท่านั้น โดยไม่แตะต้องคำว่า กามาวจร ที่แปลว่า กามภพ เหมือนอย่างความหมายที่แล้วมา ที่มีการลบ อวจร ทิ้งไป.

สรุปว่า กามาวจร คือ จิตที่นับเนื่องอยู่ในกามวจรนั่นแหละ.

เมื่อทราบเหตุเกิดของคำว่า กามาวร ในความหมายว่า “นับเนื่องอยู่ในกามาวจร” ของกามาวจรจิตนี้แล้ว จิตเหล่านี้นับเนื่องอยู่กับกามาวจร เพราะถึงแม้จะไปเกิดในรูปภพ อรูปภพ ก็ตาม ก็ยังได้ชื่อว่า นับเนื่องหรือรวมลงไปในกามภพเหมือนกัน อุปมาเหมือนกับ ดิรัจฉานที่ไปในเกิดในท้องหญิงมนุษย์ ก็ยังคงได้ชื่อว่า ดิรัจฉานอยู่นั่นเอง เพราะยังถือว่านับเนื่องในดิรัจฉานกำเนิดนั่นเอง.

ประเด็นอยู่ที่ความนับเนื่องคืออะไร ขอยกไปกล่าวคราวหน้า เพราะหากกล่าวคราวนี้เห็นทีจะยาวเกิน กว่าจะจบ

ขออนุโมทนา

สมภพ สงวนพานิช

๖๕ : แม้จิตก็ชื่อว่า กามาวจร ด้วยเหตุที่ทำให้ปฏิสนธิเป็นไปในกาม

#๖๕อภิธัมมาวตาราวตาร เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กามาวจรกุศลจิต : แม้จิตก็ชื่อว่า กามาวจร ด้วยเหตุที่ทำให้ปฏิสนธิเป็นไปในกาม

( เนื้อความช่วงนี้อยู่ใน #คัมภีร์อภิธัมมาวตาร๗ )

ทุกคำศัพท์ที่ใช้สื่อความหมาย ย่อมมีเหตุที่ทำให้เกิด.  ก็เหตุที่ทำให้ศัพท์นั้นเกิด  เรียกว่า สัททัปปวัตตินิมิต แปลว่า เหตุแห่งความเป็นไปของศัพท์ ได้แก่ คำนิยามสั้นๆ ของคำศัพท์ ที่เคยกล่าวมาแล้วนั้น.  แม้คำศัพท์ว่า กามาวจร ก็มีเหตุดังกล่าวเหมือนกับทุกศัพท์ ในเรื่องนี้ การท่องเที่ยวไปตลอดกาลโดยส่วนมากในกาม เป็นเหตุแห่งการตั้งชื่อว่า กามาวจร, นอกจากนี้ ยังมีเหตุอย่างอื่น คือ

๑๙. ปฏิสนฺธิํ ภเว กาเม         อวจารยตีติ วา;
       กามาวจรมิจฺเจวํ            ปริยาปนฺนนฺติ ตตฺร วาฯ
          ๑๙. อีกอย่างหนึ่ง ตรัสเรียกไว้อย่างนี้ไว้ว่า “กามาวจร” เพราะอรรถว่า ยังปฏิสนธิให้ท่องเที่ยวไปในภพอันเป็นกาม (คือ ในกามภพ). (นี้เป็นเหตุที่ ๒)

อีกอย่างหนึ่ง ตรัสเรียกไว้อย่างนี้ว่า “กามวจร” เพราะอรรถว่า นับเนื่องในกามาวจรนั้น. (นี้เป็นเหตุที่ ๓)

----------------------------

บรรดาเหตุสองอย่างนั้น การทำให้ปฏิสนธิเป็นไป ก็คือ การส่งผลที่ทำให้สัตว์เกิดในกามนั้น. ในกรณีนี้ ถึงกามาวจรจิตนี้ จะเป็นไปในภพใดๆ ก็ตาม ก็ยังทำให้ปฏิสนธิเป็นไปเฉพาะในกามภพเท่านั้น หมายความว่า ถึงจะเป็นไปในรูปภูมิหรืออรูปภูมิบ้าง เมื่อคราวจะส่งผล ก็ย่อมให้จิตเหล่านั้นที่เกิดขึ้นแม้แก่รูปพรหมเป็นต้นในรูปภูมิเป็นต้นนั้น มาปฏิสนธิถือกำเนิดในกาม กล่าวคือ ประเทศ ๑๑ อย่างนี้เท่านั้น. ด้วยเหตุนี้แหละ จิต ๘ ดวงนี้ จึงชื่อว่า กามาวจร เพราะทำปฏิสนธิให้เป็นไปในกามภพเท่านั้น.

ด้วยนิยามนี้ คำศัพท์ว่า “กามาวจร” ก็เกิดจากการนำคำว่า กาม + อวจาร มารวมกัน โดยคำว่า อวจาร แปลว่า ทำให้เป็นไป หรือ เป็นเหตุให้เป็นไปในกาม แล้วแก้ไขคำศัพท์ให้เป็น อวจร ต่อมานำมารวมกันเป็นคำวา กามาวจร มีความหมายว่า ทำปฏิสนธิหรือเป็นเหตุให้ปฏิสนธิเป็นไปในกาม ฉะนี้แล

ขออนุโมทนา

สมภพ สงวนพานิช

๖๔ : แม้จิตก็ชื่อว่า กามาวจร

#๖๔อภิธัมมาวตาราวตาร เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กามาวจรกุศลจิต : แม้จิตก็ชื่อว่า กามาวจร

( เนื้อความช่วงนี้อยู่ใน #คัมภีร์อภิธัมมาวตาร๗ )
ดังที่กล่าวมาแล้วว่า  คำว่า กาม ย่อมาจาก กามาวจร หมายถึง ภูมิ หรือ ประเทศ ๑๑ อันเป็นที่ท่องเที่ยวไปแห่งกาม. แต่ในความหมายต่อไปนี้ คำว่า กาม อันหมายถึง กามาวจรภูมินั้น จะถูกนำมาย่อเข้ากับคำว่า อวจร เป็น กามาวจร อีกครั้งหนึ่ง และจะมีความหมายว่าจิต อันได้แก่ กุศลจิตที่จำแนกเป็น ๘ ดวงตามประเภทแห่งเวทนา ญาณ และสังขาร นั้น.  ก็กุศลจิตนั้นเป็นไปในกามาวจรภูมินั้นอย่างไร?

๑๘. ตสฺมิํ กาเม อิทํ จิตฺตํ        สทาวจรตีติ จ;
   กามาวจรมิจฺเจวํ            กถิตํ กามฆาตินาฯ

๑๘. ก็จิตดวงนี้ ย่อมท่องเที่ยวไปตลอดกาลทุกเมื่อ ในกามนั้น เพราะเหตุนั้น พระพุทธเจ้าผู้ทรงฆ่ากามได้แล้ว จึงตรัสเรียกไว้อย่างนี้ว่า “กามาวจร”

ท่านทั้งหลาย เป็นอันว่า กามาวจรจิต อันมีที่มาที่ไปแห่งชื่ออย่างพิสดารล้ำเหลือ ได้แก่ จิตที่เป็นไปในกามาวจรภูมินี้นั่นเอง. อนึ่ง  กามาวจรจิตจะมีเพียงกุศลจิต ๘ ดวงนี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้จิตที่เป็นอกุศลชาติทั้งหมด เป็นต้น ก็ชื่อว่า กามาวจรจิตเหมือนกัน เหตุที่มีความเป็นไปในกามนั้นตลอดกาลทุกเมื่อ.  แต่ทว่ากามาวจรจิตที่เป็นเนื้อความหรือเป้าหมายที่กำลังกล่าวถึงในการศึกษาอภิธัมมาวตารบทนี้ ได้แก่ กุศลจิต ๘ ดวงนี้นั่นเอง ตามหัวข้อว่า “กามาวจรกุศลจิต” ด้วยเหตุนี้ จึงต้องใช้คำว่า กุศล ประกอบไว้เพื่อกันกามาวจิตที่เป็นพวกอกุศลชาติ เป็นต้นนั้น

ก็การดำเนินไปในกามแห่งกุศลจิตนี้ แม้จะการเป็นไปตลอดกาลทุกเมื่อดังกล่าวมานั้นก็จริง แต่ การเป็นไปตลอดกาล ก็เพียงเป็นไปในกามนั้นโดยส่วนมาก หรือเป็นไปอยู่ในกามนั้นเนืองๆ เท่านั้น. ในเรื่องนี้ควรเข้าใจด้วยอุปมา.

ช้างตัวหนึ่งได้นามว่า สังคามาวจร เพราะมันหยั่งลงสู่สมรภูมิสงครามโดยมาก ถึงมันจะเที่ยวไปในสถานที่อื่นบ้าง ก็ยังคงเป็นที่รู้จักแก่ผู้ที่พบเห็นว่า สังคามาวจร อยู่น้่นเอง อันเนื่องมาจากความเป็นไปโดยมากในสงคราม, ข้อนี้มีครุวนา ฉันใด, แม้จิตที่ชื่อกามาวจรก็เป็นฉันนั้น คือ บัณฑิตต่างก็ยังเรียกว่า กามาวจรจิตอยู่นั่นเอง อันเนื่องมาจากเป็นไปอยู่ในกามโลกอยู่โดยส่วนมาก.

#ปัญหาน่าสงสัย

ถาม ถ้าเช่นนั้น ในเมื่อกามาวจรจิตนี้สามารถเป็นไปในรูป และ อรูปได้ กุศลจิตนั้น ก็ควรจะเรียกว่า รูปาวจร และ อรูปาวจร ได้เช่นกัน?

ตอบ ไม่ได้หรอก เพราะการเที่ยวไปในรูปหรืออรูปนั้น ก็ต้องถือเอาโดยการเที่ยวไปบ่อยๆ โดยมากเท่านั้นเป็นประมาณ เหมือนกัน แต่เพราะจิตนี้เป็นไปในกาม ๑๑ แห่งนี้โดยมาก ไม่เป็นไปในรูปและอรูปโดยมาก.

ฉะนี้แล พระพุทธองค์ ที่พระพุทธทัตตเถราจารย์ถวายพระนามว่า กามฆาติ เพราะทรงมีปกติกำจัดกิเลสกามของเหล่าเวไนยยะ โดยกระแสพระเทศนาญาณ จึงตรัสเรียกจิตพวกนี้ กามาวจร เท่านั้น ไม่ตรัสเรียกว่า กามาวจราวจร จิตที่เที่ยวไปแต่ในกามาวจร หรือรูปารูปาวจร จิตที่เป็นไปทั้งในรูปและอรูป.

ขออนุโมทนา
สมภพ สงวนพานิช



๖๓ : ชื่อว่า กามาวจร ย่อเป็น กาม

#๖๓อภิธัมมาวตาราวตาร เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กามาวจรกุศลจิต : ชื่อว่า กามาวจร ย่อเป็น กาม

( เนื้อความช่วงนี้อยู่ใน #คัมภีร์อภิธัมมาวตาร๖ )

เมื่อคราวที่แล้วได้นำคำว่า กามาวจร มาขยายความให้ทราบว่า การตั้งชื่อว่า กามาวจร นั้นหมายถึงการปรากฏอยู่ของกามใน ๑๑ ประเทศนั้น หรือเพราะเอากามนั้นมากำหนดประเทศที่ตนเป็นไป.  แต่คำว่า กามาวจร นี้จะใช้คำว่า กาม เรียกแทน โดยตัดคำว่า อวจร ออกไปเสีย.

๑๗. สฺวายํ รูปภโว รูปํ,            เอวํ กาโมติ สญฺญิโต;
        อุตฺตรสฺส ปทสฺเสว,          โลปํ กตฺวา อุทีริโตฯ
๑๗. เปรียบเหมือนรูปภพ ตรัสเรียกว่า “รูป” เพราะการลบบทหลังเสีย ฉันใด  กามาวจรนี้นั้น บัณฑิตก็ให้ชื่อเรียกว่า “กาม” เพราะกระทำการลบบทหลัง เสียฉันนั้น

การตัดคำว่า อวจร ออกไปนี้มิใช่นึกอยากจะทำก็ทำ แต่ต้องมีหลักฐานการใช้ในพระบาฬี อรรถกถา. ในกรณีนี้ ท่านทั้งหลายที่คุ้นเคยกับการอ่านพระไตรปิฎก ต้องเคยพบคำว่า รูปภพ อรูปภพ เป็นต้น เป็นแน่แท้ ยกตัวอย่างพระบาฬีอัคคัญญสูตร ปาฏิวรรค ทีฆนิกาย (๑๑/๘๘) 

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สัตว์ทั้งหลายที่มีชาติอันไม่อาจนับได้ด้วยวิธีคำนวณหรือวิธีนับ ก็ยังมีอยู่ แม้ภพซึ่งเป็นที่ๆ เขาเคยอาศัยอยู่ คือรูปภพ อรูปภพ สัญญีภพ อสัญญีภพ เนวสัญญีนาสัญญีภพ [ที่ไม่อาจนับได้] ก็ยังมี ย่อมตามระลึก ถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนได้หลายประการ พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศด้วยประการฉะนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้เป็นธรรมที่เยี่ยม ในฝ่ายบุพเพนิวาสานุสติญาณ ฯ

 ในบาฬีนี้เรียกว่า รูปภพ อรูปภพ เพราะเป็นภพภูมิคือที่อยู่แห่งรูปพรหมและอรูปพรหม.

และในบางแห่งกล่าวสั้นๆเพียง รูป และ อรูป ก็หมายถึง รูปภพ และ อรูปภพ เหมือนกัน เช่น

พระบาฬีธัมมสังคณีปกรณ์ รูปาวจรกุศล (๓๔/๑๓๙)

[๑๓๙] ธรรมเป็นกุศล เป็นไฉน?
โยคาวจรบุคคล เจริญมรรคปฏิปทาเพื่อเข้าถึงรูป (รูปภพหรือรูปภูมิ) *** สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์ ประกอบด้วย วิตก วิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่ ในสมัยใด ผัสสะ ฯลฯ อวิกเขปะ มีในสมัยนั้น ฯลฯ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมเป็นกุศล.

พระบาฬีธัมมสังคณีปกรณ์ อรูปาวจรกุศล (๓๔/๑๓๙)

[๑๙๒] ธรรมเป็นกุศล เป็นไฉน?
โยคาวจรบุคคล เจริญมรรคปฏิปทาเพื่อเข้าถึงอรูป (อรูปภพหรืออรูปภูมิ) *** เพราะก้าวล่วงรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง เพราะความดับไปแห่งปฏิฆสัญญา เพราะไม่มนสิการซึ่งนานัตตสัญญา จึงบรรลุจตุตถฌาน อันสหรคตต้องอากาสานัญจายตนสัญญาสหรคตด้วยอุเบกขา ไม่มีทุกข์ไม่มีสุขเพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับสนิทในก่อน มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ในสมัยใด ผัสสะ ฯลฯ อวิกเขปะ มีในสมัยนั้น

*** หมายเหตุ  คำว่า รูปภูมิ รูปภพ เหมือนกัน ในพระไตรปิฎกภาษาไทยแปลคำบาลีว่า รูปูปปตฺติ เป็นคำว่า เข้าถึงรูปภูมิ แต่ในที่นี้ขอใช้คำว่า รูป เพื่อสอดคล้องกับเนื้อเรื่องที่กล่าวถึงนี้. *** แม้ใน อรูปภูมิหรืออรูปภพก็มีนัยนี้.

ท่านทั้งหลายจะเห็นว่า ในบางแห่งเป็นรูปภพ บ้าง รูป บ้าง แม้เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้คำว่า กามาวจร ก็อาจตัดคำว่า อวจร ออกไป เหลือเพียงคำว่า กาม ก็มีความหมายเดียวกันกับคำว่า กามาวจร นั่นเอง เพราะเป็นการย่อคำพูดให้สั้นลง ซึ่งเป็นความนิยมในการใช้ภาษาบาฬีประการหนึ่ง.

เมื่อได้คำว่า กาม ด้วยประการฉะนี้แล้ว ต่อไปก็จะนำไปประกอบกับคำว่า อวจร เป็น กามาวจร (เหมือนเดิมอีกนั่นแหละ) ขึ้นใหม่ เพื่อให้มีความหมายต่างไปกับคำว่า กามาวจร ที่หมายถึง ๑๑ ประเทศ เหล่านั้น ก็คงจะต้องยกไปกล่าวคราวหน้า วันนี้เวลาหมด ขอยุติเพียงเท่านี้

ขออนุโมทนา

สมภพ สงวนพานิช

๖๒ : ชื่อว่า กามาวจร เพราะเป็นที่ท่องเที่ยวไปแห่งกาม

#๖๒อภิธัมมาวตาราวตาร เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กามาวจรกุศลจิต : ชื่อว่า กามาวจร เพราะเป็นที่ท่องเที่ยวไปแห่งกาม

( เนื้อความช่วงนี้อยู่ใน #คัมภีร์อภิธัมมาวตาร๖ )

เมื่อคราวที่แล้วมาได้สรุปคำว่า กาม ว่า ได้แก่ กิเลสกามและวัตถุกามที่เป็นไปเฉพาะ ๑๑ ประเทศนี้เท่านั้น และได้บรรยายถึงเหตุผลของกรณีดังกล่าวไปแล้ว. และก็การเที่ยวไปของกามใน ๑๑ ประเทศนี้นั่นเอง ทำให้เป็นเหตุของการได้ชื่อว่า กามวจร.


๑๖. 

กาโมวจรตีเตตฺถ,             กามาวจรสญฺญิโต;
อสฺสาภิลกฺขิตตฺตา หิ,        สสตฺถาวจโร วิยฯ

๑๖. 
กามย่อมท่องเที่ยวไป ในประเทศ ๑๑ อย่างนี้ เพราะเหตุนั้น ประเทศ ๑๑ อย่างนี้ จึงชื่อว่า “กามาวจร” เพราะเป็นประเทศที่ถูกกำหนดหมายไว้ด้วยกามนั้น ดุจประเทศที่ชื่อว่า สสัตถาวจร (เป็นที่ท่องเที่ยวไปแห่งบุรุษผู้มีศัตรา)  ฉะนั้น.

ในกรณีนี้ ถึงจะมีธรรมอื่นอาทิ รูปาวจรธรรม อรูปาวจรธรรม แม้แต่โลกุตรธรรม ก็สามารถเป็นไปใน ๑๑ ประเทศนี้ ก็จริง แต่กระนั้น การตั้งชื่อว่า กามาวจร โดยไม่ตั้งว่า รูปาวจรเป็นต้น เหตุที่จะเน้นเฉพาะการเที่ยวไปของกามเท่านั้น มากำหนดกล่าวคือบัญญัติชื่อว่า กามาวจร ให้ ๑๑ ประเทศนี้,  อีกนัยหนึ่ง เพราะกามสองอย่างปรากฏใน ๑๑ ประเทศนี้ๆ จึงได้ชื่อว่า กามาวจร.

ท่านทั้งหลายลองนึกเทียบกับคำศัพท์ที่เขาใช้ในทางโลกดูเถิด  คำว่า หมู่บ้านนักรบ บ้านขุนดาบ บ้านนายธนู  บ้านช่างเหล็ก เป็นต้น ถ้าจะถามว่า ในหมู่บ้านนักรบเป็นต้นนั้น มีเฉพาะบุคคลผู้เป็นนักรบ ขุนดาบ หรือนายธนู เท่านั้นหรือที่อยู่ในบ้านนั้น ก็หรือว่า ไม่มีคนอื่นที่ไม่ใช่นักรบเป็นต้นอยู่ในบ้านนั้นบ้างหรือ ก็คงเห็นที่จะไม่พ้นคำตอบที่ว่า ไม่เฉพาะแต่นักรบที่อยู่ในบ้าน แม้บุคคลอื่นไม่ว่าจะเป็นแม่บ้าน พ่อค้า กสิกร กระทั่งสัตว์เลี้ยงน้อยใหญ่ ต่างก็มีอยู่ในบ้านทั้งสิ้น แต่ถึงจะมีบุคคลอื่นมีอยู่ในหมู่บ้านนันก็ตาม การตั้งชื่อว่า หมู่บ้านนักรบ เท่านั้น ก็เพราะกำหนดหมายเอาเฉพาะนักรบ หรือเพราะการมีอยู่ปรากฏอยู่ของนักรบในหมู่บ้าน นั่นเอง ข้อนี้ย่อมเป็นฉันใด กามาวจร ก็เป็นเหมือนฉันนั้น. ฉะนี้แหละ ท่านจึงยกเอาอุปมาว่าด้วย สสัตถาวจร มาแสดงไว้.

ก็คำว่า สสัตถาวจร นี้แปลว่า สถานที่เที่ยวไปหรือดำเนินไปของบุรุษมีอาวุธ มาจากคำว่า

ส = มี, หรือเป็นไปร่วมกับ

สัตถา = อาวุธ

อวจร = เป็นไปหรือท่องเที่ยวไป

รวมกันเป็น สสัตถาวจร สถานที่เป็นที่ท่องเที่ยวไปของบุรุษผู้มีอาวุธ,

แม้คำว่า รูปาวจร และ อรูปาวจร ก็มีความหมายเช่นเดียวกับ กามาจร คือ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวไปแห่งรูปตัณหาและอรูปตัณหา แม้รูปาวจรธรรมอย่างอื่นก็มีอยู่ แต่กำหนดหมายรูปตัณหาหรืออรูปตัณหาเท่านั้น จึงตั้งชื่อว่า รูปาวจร หรือ อรูปาจร. 

วันนี้ขอยุติไว้เพียงเท่านี้

๖๑ : เหตุผลในการที่ ๑๑ แห่งนี้ชื่อว่า กามาวจร เท่านั้น นัยที่ ๒

#๖๑อภิธัมมาวตาราวตาร เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กามาวจรกุศลจิต : เหตุผลในการที่ ๑๑ แห่งนี้ชื่อว่า กามาวจร เท่านั้น  นัยที่ ๒

( เนื้อความช่วงนี้อยู่ใน #คัมภีร์อภิธัมมาวตาร๕ )

นอกจากเหตุผลที่ว่ามานั้น ยังมีอีกเหตุผลหนึ่งของการได้ชื่อว่า กามาวจร ของ ๑๑ แห่งนี้

ในคัมภีร์มหานิทเทส ได้แสดงตัณหา โดยจัดเป็นชุดตัณหา ๒ ชุด คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ชุดหนึ่ง, กามตัณหา รูปตัณหา อรูปตัณหา และนิโรธตัณหา (ราคะที่สหรคตด้วยอุจเฉททิฏฐิ คือ  ความยินในความดับ ชื่อว่า นิโรธตัณหา. #อรรถกถามหานิทเทส. ด้วยคำนี้แสดงว่า วิภวตัณหาและนิโรธตัณหา เป็นอันเดียวกัน  คือ ความยินดีพอใจในความขาดสูญ. ดังนั้น นิโรธตัณหา ไม่ใช่ ความยินดีในนิโรธที่เป็นชื่อของนิพพาน.) โดยเป็นความหมายหนึ่งของคำว่า กาม.

ท่านผู้สนใจในการค้นคว้า เมื่อตรวจดูข้อความดังที่ได้อ้างนี้ ในคัมภีร์บาฬีมหานิทเทส ขุททกนิกาย กามสุตตนิทเทส (๒๙/๑๔) ก็จะพบว่า ท่านจับเอาตัณหาทั้งหมดดังกล่าวรวมไว้ในคำว่า ตัณหาอันมีชื่อว่า วิสสัตติกา (ตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์)  โดยนัยว่า  ผู้ใดละกามได้ ผู้นั้น ชื่อว่า เว้นขาดจากตัณหาที่ซ๋านไปในอารมณ์. (ตัณหา ที่ซ่านไปในอารมณ์) ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดมาก ฯลฯ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา,  กามตัณหา รูปตัณหา อรูปตัณหา นิโรธตัณหา เป็นต้น.  ดังนั้น คำว่า กาม ก็รวมเอารูปตัณหา อรูปตัณหา ผนวกเข้าไว้ด้วย แม้วัตถุทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นกามาวจรธรรม รูปาวจรธรรม อรูปาวจรธรรม ก็เหมือนกัน ก็รวมเข้าไว้ในวัตถุกาม ดังที่ได้แสดงมาแล้วในครั้งที่ #๕๓อภิธัมมาวตาราวตาร

กามทั้ง ๒ อย่างทุกอย่างทุกประเภททั้งสิ้นไม่เหลือ อันหมายถึง กามตัณหา รูปตัณหา เป็นต้นและ กามาวจรธรรม รูปาวจรธรรมเป็นต้น  ที่มาในคัมภีร์นิทเทสนี้แหละที่คัมภีร์อภิธัมมาวตารท่านได้อ้างอิงไว้ด้วยคำว่า “ #กามทั้งสองอย่างแม้นี้นั้น ”.  ซึ่งก็หมายความว่า กามทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นกิเลส และวัตถุ ในกามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ ก็เป็นไปในคำว่า กามาวจร นี้เองนั่นแหละ.

ท่านทั้งหลาย แม้จะได้แสดงอย่างนี้ไว้ ก็ใช่ว่า จะหมายถึง กามเหล่านั้นทั้งหมด สามารถเป็นไปใน๑๑ ประเทศนี้ได้ ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงกำกับคำว่า “  #ด้วยอำนาจแห่งความถึงพร้อม ” เอาไว้ ด้วยหวังจะให้เกิดความเข้าใจว่า ที่จริง กามราคะเท่านั้น ที่จัดเป็นอย่างหยาบ ที่หนาแน่น ที่มีมาก เรียกว่า กิเลสกาม และ กามคุณ ๕ ที่เป็นที่ตั้งของกามราคะเหล่านั้นเท่านั้น จีงเรียกว่า วัตถุกาม ในเรื่องนี้. 

ดังนั้น คำว่า ความถึงพร้อม ในความหมายนี้ หมายถึง ความสำเร็จ หรือ มีขึ้น ปรากฏขึ้น. คือ กามคู่นี้ที่สำเร็จ มี หรือ ปรากฏใน ๑๑ ประเทศ นี้ ได้แก่ กามราคะ หรือที่เรียกว่า ฉันทราคะ และ กามคุณ ๕ ที่เรียกว่า เตภูมกวัฏฏะ อันเป็นไปกับด้วยวัฏฏะในภูมิ ๓ เท่านั้น.

จะเห็นได้ว่า กุญแจสำคัญที่ไขความพิสดารตรงนี้ คือ คำว่า “ ความถึงพร้อม” ที่หมายถึง ความสำเร็จ มีขึ้น หรือ ปรากฏขึ้นนั่นเอง ที่จะสื่อถึงความเป็นไปเท่าที่จะเป็นได้เท่านั้น ไม่ได้หมายถึงทั้งหมด.

กาม ๒ อย่างนี้เป็นไปใน ๑๑ ประเทศนี้ ไม่ว่าจะเป็นด้วยอำนาจแห่งความเข้าถึงร่วมกันและกันโดยความเป็นอารมณ์และธรรมรู้อารมณ์ หรือ จะเป็นด้วยอำนาจแห่งการปรากฏขึ้น ก็ตาม,  เพราะเหตุดังกล่าวมานั้น ๑๑ ประเทศนี้ จะมีชื่ออะไร ติตตามต่อคราวหน้า วันนี้เวลาหมด ขอยุติไว้เพียงเท่านี้

ขออนุโมทนา

สมภพ สงวนพานิช