วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2559

๗๕ ทิฏฐุชุกัมม์ (ทิฏฐุชุตตะ) จบ

#๗๕อภิธัมมาวตาราวตาร : เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กามาวจรกุศลจิต : คำวินิจฉัยบุญกิริยวัตถุ ๑๐ ข้อว่า ทิฏฐุชุกัมม์ (ทิฏฐุชุตตะ) จบ 

            ***** อ่าน  อภิธัมมาวตาร ๘   ประกอบด้วยครับ
เมื่อคราวที่แล้ว ได้แสดงทิฏฐุชุกัมม์โดยนัยที่หนึ่งแล้ว ยังมีอีกแนวคิดหนึ่งที่ควรทราบเหมือนกัน กล่าวคือ
ที่เราเรียกกัน ความเห็น ความคิดเห็น ว่า ทิฏฐิ นั้น อันที่จริงก็ได้แก่ จิต อย่างหนึ่ง ปัญญาอย่างหนึ่ง โดยเนื่องด้วยเป็นสภาพเห็นแจ้งอารมณ์ และ เป็นสภาพรู้เห็นจริงตามสภาวะ. ในที่นี้ ความเห็นตรงอย่างถูกต้อง ได้แก่  วิญญาณอันเป็นกุศล (กุศลจิต) และปัญญาญาณมีกัมมัสสกตาญาณเป็นต้น ชื่อว่า ทิฏฐุชุตตะ. ดังนั้น การระลึกถึงสุจริต, การสรรเสริญและการเข้าถึงคุณผู้อื่น แห่งตน สงเคราะห์เข้าไปในการเกิดขึ้นแห่งญาณ โดยเป็นกุศลจิต  และในกัมมปถสัมมาทิฏฐิ (กรรมบถข้อมโนกรรมคือสัมมาทิฏฐิ) โดยเป็นกัมมัสกตาญาณ.

แต่ในกรณีญาณอันสัมปยุตกับเจตนามีทานเป็นต้น พึงทราบว่า ญาณก็เป็นอันรวมอยู่ภายในทานนั่นเอง
(หมายความว่า ทิฏฐุชุตตะนี้ ถ้าเล็งเอาว่าเป็นกุศลจิต บุญเหล่านี้คือ การระลึกถึงสุจริตเป็นต้นเหล่านี้ ก็จัดเป็นญาณที่เกิดขึ้นในจิต. จิตชื่อว่า มีความเห็นตรง. แต่ถ้าเล็งเอาว่าเป็นกัมมัสสกตาญาณ บุญเหล่านี้ก็เป็นสัมมาทิฏฐิอันเป็นมโนกรรมในกรรมบถ. ญาณ ชื่อว่า ความเห็นตรงไม่เกี่ยวกับจิต. เมื่อเป็นเช่นนี้ กรณีที่ญาณเกิดร่วมกับเจตนาอย่างอื่น เช่นการเล็งเห็นว่าทานมีผลเป็นต้นในขณะให้หรือก่อนหลังเป็นต้น ก็ถือเป็นทานมัยบุญกิริยานั่นเอง ไม่ใช่ทิฏฐุชุกัมมบุญกิริยา)

ท่านสาธุชนทั้งหลาย เนื้อหาพระธรรมในฝ่ายพระอภิธรรม มีความลึกซึ้ง เพราะสภาวธรรมมีสภาพลึกซึ้ง เป็นอารมณ์ของพระสัพพัญญุตญาณ ไม่ใช่วิสัยที่จะตรึกตรองเอง  ดังนั้น  เทสนาธรรมในฝ่ายนี้ จะช่วยฝึกความคิด อบรมสุตปัญญาให้มีมากขึ้น อันจะต่อยอดถึงการหลุดพ้นจากกิเลสโดยสิ้นเชิงผนวกด้วยปฎิสัมภิทาญาณคมกล้า สมกับคำที่กล่าวกันว่า “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา” ขอท่านทั้งหลายอย่าได้คิดแหนงหน่ายว่า “พระธรรมอะไรหนอ ช่างยากเย็นเสียนี่กระไร” ดังนี้แล้วก็พากันเลิกล้มความเพียรไปเสีย ขอจงทำไว้ในใจอย่างนี้เถิดว่า “เราจักศึกษาไว้เพื่อเป็นผู้รักษาพระธรรมของพระพุทธองค์ ผู้เป็นพระบรมศาสดา ดุจขุนคลังรักษาสมบัติแห่งพระราชาไว้ฉะนั้น”

ขออนุโมทนา

สมภพ สงวนพานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น