วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2559

๗๐. บุญกิริยวัตถุ ๑๐ ทานมยและสีลมยบุญญกิริยาวัตถุ

#๗๐อภิธัมมาวตาราวตาร : เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กามาวจรกุศลจิต : คำวินิจฉัยบุญกิริยวัตถุ ๑๐ ทานมย.และสีลมยบุญญกิริยาวัตถุ

( เนื้อความช่วงนี้อยู่ใน #คัมภีร์อภิธัมมาวตาร๘ )


เมื่อคราวที่แล้วได้กล่าวความหมายตามบทเรียกวา “ปทวิจาร” หมายถึง การตีกรอบความหมายตามบทพยัญชนะอย่างสังเขปเท่าที่ปรากฏตามหลักการที่คัมภีร์ฎีกาอภิธัมมาวตารนำเสนอไว้ บัดนี้จะแสดงความเป็นไปตามสภาวะและขอบเขตของบุญกิริยาวัตถุนั้นๆ โดยนัยของฎีกานั้นสืบไป.

ทาน อันที่จริง ก็คือ ปริจจาคเจตนา เจตนาที่ทำให้สละวัตถุ ที่ประกอบในกุศลจิตนั่นเอง.  อันที่จริง เจตนาที่เป็นไปโดยเนื่องด้วยการสละสิ่งของที่มีอยู่ของตน โดยหวังจะบูชาและอนุเคราะห์มุ่งไปที่บุคคลอื่น ของเสขบุคคลและปุถุชน ก็เรียกว่า ทาน. แม้เจตนาดังกล่าว ที่เป็นไปแก่พระขีณาสพ ก็เรียกว่า ทาน เหมือนกัน, แต่ทว่า เจตนาของพระเสขะและปุถุชนเท่านั้นที่ประสงค์เอาว่าเป็นทานมยปุญญกิริยาวัตถุ ของพระขีณาสพมิได้ประสงค์เอา,


#ปัญหาน่าสงสัย

ถาม เหตุไรเจตนาสละของพระขีณาสพจึงไม่ถือเอาว่าเป็นทานมยบุญญกิริยานี้?
ตอบ เพราะเจตนาดังกล่าวของพระขีณาสพมิได้เป็นไปเพื่อทำให้ผลเกิดขึ้น, และมิได้ชำระสันดานของพระขีณาสพ เพราะสันดานของพระขีณาสพหมดจดแล้ว. ตามหลักการที่ว่า บุญเป็นสภาพทำผลควรบูชาให้เกิดและชำระสันดานของตน.

สรุปว่า จิตดวงที่เป็นกุศลโดยทานมยปุญญกิริยาวัตถุนี้ เป็นของพระเสขะและปุถุชนเท่านั้น ส่วนของพระขีณาสพไม่เป็น ซึ่งจะกลายเป็นจิตอีกพวกหนึ่งโดยเฉพาะเรียกว่า กิริยาจิต.
--------------
สีลมยบุญญกิริยาวัตถุ ก็คือ เจตนาของพระเสขะและปุถุชน ไม่ใช่ของพระขีณาสพโดยนัยเดียวกับทานนั่นเอง. ในกรณีนี้ ศีลจึงได้แก่ เจตนาของพระเสขะและปุถุชน ผู้ที่สมาทานศีล ๕, ศีล ๘, ศีล ๑๐ โดยเป็นนิจจศีล และอุโบสถศีลเป็นต้น ก็ดี, ผู้ที่แม้ไม่ได้สมาทานและกำลังงดเว้นจากกายทุจริตเป็นต้นที่มาปรากฏในขณะนั้น โดยตระกูลและประเพณี (จารีต) ก็ดี, ผู้ที่สมาทานการสังวร (?) ในโรงอุปสมบท, ผู้บำเพ็ญปาติโมกขสังวรศีล ก็ดี, ผู้ปิดกั้นอินทรีย์มีจักขุเป็นต้นในอารมณ์อันมาถึงคลอง (กำลังปรากฏที่จักษุคือขณะเห็น), ผู้พิจารณาการใช้สอยปัจจัยมีจีวรเป็นต้น, ผู้ทำอาชีวะให้บริสุทธิ์จากวัตถุมีการพูดหลอกลวงเป็นต้น นี้แหละ เรียกว่า สีลมยบุญกิริยาวัตถุ.

#ปัญหาน่าสงสัย

ถาม การดำรงอยู่ในจาริตตศีลอย่างนี้ว่า ชื่อว่า การให้นี้เป็นวงศ์ตระกูล เป็นข้อประพฤติประเพณีของพวกเรา ดังนี้แล้วก็ให้ อย่างนี้จะถือว่า เป็นทานมยหรือสีลมยบุญกิริยาวัตถุ.
ตอบ เป็นสีลมยฯ นั่นแหละ เพราะถือเป็นจาริตตศีล. เพราะการให้เหล่านั้นถึงจะเป็นไปโดยการบริจาคไทยธรรม ก็ยังถือเป็นสีลมยฯ นั่นเอง เพราะการกระตุ้นที่เกิดขึ้นก่อนหน้าและเจตนาในภายหลัง เป็นไปโดยอาการอย่างนั้น (คือเป็นไปด้วยคิดว่าเป็นเพียงจารีตประเพณีของวงศ์ตระกูล). แต่ในกรณีที่การให้โดยอาการอย่างนั้นเหมือนกันแต่เป็นไปเพื่อหวังอนุเคราะห์และบูชา ก็จัดเป็นทานมยฯ.

บุญกิริยาวตถุข้อต่อไปยกไปว่าต่อในคราวหน้า

ขออนุโมทนา

สมภพ สงวนพานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น