วันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2559

๗๑ ภาวนามยกุศล

#๗๑อภิธัมมาวตาราวตาร : เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร

กามาวจรกุศลจิต : คำวินิจฉัยบุญกิริยวัตถุ ๑๐ ข้อว่า ภาวนา -

**** เนื้อความช่วงนี้อยู่ใน #คัมภีรฺอภิธัมมาวตาร ๘ วินิจฉัยบุญกิริยาวัตถุ

ท่านสาธุชนทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุ กับกุศลนั้นก็คือธรรมเดียวกันนั่นเอง กล่าวคือ กุศลเมื่อเป็นไปก็เป็นไปโดยความเป็นบุญกริยวัตถุ ๑๐ นี้เอง

เมื่อคราวที่แล้วได้แสดงวินิจฉัยว่า แม้ธรรมชาติที่ได้ชื่อว่า ทาน เหมือนกัน แต่จะได้ชื่อบุญกิริยาทั้งหมดก็หามิได้ เพราะถ้าเกิดขึ้นกับพระขีณาสพ ก็ไม่จัดเข้าเป็นบุญกิริยาตามเหตุผลที่ได้กล่าวไปแล้ว.

แม้ศีลก็มีส่วนคล้ายกับทานอยู่บ้าง ในกรณีที่ทานนั้นเกิดขึ้นโดยความเป็นกิริยาที่สืบต่อกันของตระกูลหรือประพฤติกันสม่ำเสมอ โดยไม่ได้คิดถึงการบูชาและอนุเคราะห์ ก็จะเป็นศีลประเภทจาริตตศีล แต่ในกรณีที่คิดถึงการบูชาและอนุเคราะห์ก็คงจัดเป็นทานมัยตามปกติ.

ถึงคราวนี้ จะได้แสดงข้อวินิจฉัยในบุญกิริยาข้ออื่นต่อไปตามควรแก่เวลา

ภาวนานั้นเล่ามีข้อจำกัดอย่างไรบ้าง?


ก่อนอื่น

ภาวนา เมื่อว่าความหมายตามบทพยัญชนะ ได้แก่ ธรรมชาติที่ทำให้กุศลธรรมเจริญขึ้น

แต่เมื่อว่าโดยสภาวธรรม ได้แก่ วิปัสสนาเจตนา จับตั้งแต่โคตรภูไปจนถึงโวทาน ของพระโยคีบุคคลผู้ยกธรรมมีจักษุเป็นต้น ขึ้นสู่ไตรลักษณ์พิจารณาอยู่โดยนัยว่า จักษุ ไม่เที่ยง ดังนี้เป็นต้น อย่างหนึ่ง, และ บริกรรมเจตนา จนถึงโคตรภู ที่ยังไม่ถึงอัปปนาในอารมณ์กัมมัฏฐานมีกสิณเป็นต้น อีกอย่างหนึ่ง.

กล่าวโดยสรุปภาวนานี้ได้แก่ กุศลเมื่อเจริญวิปัสสนาและสมาธินั่นเอง แต่มีข้อแม้ว่า ต้องเป็นไปแค่โวทานโคตรภูเท่านั้น ยังไม่เข้าถึงมรรค เพราะถ้าเข้าถึงมรรคแล้วจะกลายเป็นโลกุตรกุศล แม้สมถะที่เข้าถึงอัปปนาคือได้ฌานแล้วจะกลายเป็นมหัคคตกุศล ซึ่งทั้งสองนี้ไม่ใช่กามาวจรกุศล จึงไม่ถือเอาว่าเป็นบุญกิริยาวัตถุในข้อภาวนานี้.

นอกจากวิปัสนาและสมาธิแล้ว แม้การศึกษาเล่าเรียนวิชา การงานและศิลปะที่ไม่มีโทษ ก็รวมเข้าไปในภาวนาข้อนี้เหมือนกัน แต่ในกรณีนี้ถือเป็นเพียงมติของอาจารย์ทั้งหลาย ในยุคของพระฎีกาจารย์นั้น.

อนึ่ง เมื่อบุคคลพิจารณาไทยธรรมโดยความเป็นธรรมสิ้นไปเสื่อมไปจึงให้.  แม้การพิจารณาอย่างนั้น ถือเป็นภาวนามยบุญกิริยาวัตถุเหมือนกัน เหตุที่เจตนาในส่วนทั้งสองคือในขณะให้และภายหลังให้เป็นไปโดยประการเช่นนั้นเหมือนในคราวก่อนให้ (คือ เจตนาที่เป็นไปโดยอาการที่พิจารณาถึงความไม่เที่ยงของไทยธรรมเช่นเดียวกับการเริ่มเจริญวิปัสสนาโดยการยกจักษุเป็นต้นสู่ลักษณะสามเป็นดังกล่าวแล้วนั้นเกิดร่วมกับเจตนาที่ให้ ดังนั้น นี้จึงสงเคราะห์เป็นภาวนามยบุญกิริยาวัตถุ )

วันนี้ขอยุติไว้เพียงเท่านี้

ขออนุโมทนา
สมภพ สงวนพานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น