#๘๐อภิธัมมาวตาราวตาร :
เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กามาวจรกุศลจิต : สงเคราะห์บุญกิริยา ๑๐ เป็นบุญกิริยาวัตถุ ๓ อีกนัยหนึ่ง
( เนื้อความช่วงนี้อยู่ใน #คัมภีร์อภิธัมมาวตาร๘
)
นอกจากบุญกิริยาวัตถุ ๑๐
ประการนั้นที่ตามนัยที่มาในอรรถกถาแล้ว ยังมีบางอาจารย์ตัดทิฏฐุชุกรรมออก
แต่เพิ่มบุญกิริยาอีก ๓ ดังกล่าวมาแล้วในคราวที่แล้ว อันที่จริงแล้ว บุญกิริยาเหล่านั้นสามารถสงเคราะห์ได้ในทิฏฐุชุกรรม
โดยไม่ต้องตัดออกอย่างนี้ คือ
๒๔.
สพฺพานุสฺสติปุญฺญญฺจ, ปสํสา สรณตฺตยํ;
ยนฺติ ทิฏฺฐิชุกมฺมสฺมิํ, สงฺคหํ นตฺถิ สํสโยฯ
๒๔. การระลึกบุญทั้งปวง
การสรรเสริญ และ (การถึง) สรณะทั้ง ๓ ถึงการสงเคราะห์เข้าในทิฏฐุชุกรรม
ในการถึงการสงเคราะห์ได้นั้น ไม่ต้องสงสัย
การระลึกบุญของตนเป็นต้นตามมติของอาจารย์สำนักอื่นนั้น
อันที่จริงก็คือทิฏฐุชุกรรมนั่นเอง ควรทราบรายละเอียดดังนี้
การระลึกบุญของตน ได้แก่ การระลึกกรรมดีที่ตนได้เคยทำไปแล้วนั้นทุกอย่าง.
การสรรเสริญบุญผู้อื่น ได้แก่
การสรรเสริญการทำบุญก็ตาม สัมมาปฏิบัติ ก็ตามที่ผู้อื่นทำไว้ ดวยจิตเลื่อมใส
ยินดีชื่นชม.
การถึงสรณะทั้งสาม ได้แก่
การถึงพระรัตนะ ๓ มีพระพุทธเจ้าเป็นต้นว่าเป็นสรณะ.
พระพุทธเจ้าเป็นต้น
จัดเป็นสรณะในที่นี้ เหตุที่เป็นสิ่งกำจัดภัย เพราะว่าสรณะทั้งสามนั้น
ย่อมกำจัดภัย ความสะดุ้งหวาดหวั่น ความเร่าร้อนคือทุคติ คือ ทำให้พินาศ
ก็ด้วยการถึงเข้าสรณะนั้นนั่นเอง.
อนึ่ง ในเรื่องการถึงสรณะ ๓ นั้น
แม้คำว่า สรณตฺตย หาได้หมายถึง ตัวสรณะคือพระพุทธเจ้าเป็นต้นไม่. เพราะสรณะ ๓
นั้นไม่ใช่บุญกิริยาวัตถุ. แต่หมายถึง
การถึงสรณะ ๓. การใช้คำพูดแบบนี้มีความเป็นไปโดย ๒ ลักษณะ คือ
๑. เป็นการพูดโดยอ้อม หมายถึง
จะพูดว่า การถึงสรณะ ๓ แต่พูดว่า สรณะ
๓. อันที่จริง การถึงสรณะ ๓ ได้แก่
เจตนาอันเป็นไปโดยการเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าเป็นต้น โดยนัยว่า
พระผู้มีพระภาคเป็นพระอรหันต์ด้วยเหตุแม้นี้,
พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว,
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดี ดังนี้เป็นต้น นั่นเอง.
ดังนั้น คำพูดว่า สรณะ ๓
จึงเป็นการพูดโดยอ้อม คือ พูดถึงสรณะแต่หมายถึงเจตนาที่เป็นไปในสรณะ ๓ เหล่านั้น.
๒. การกล่าวเพียงคำว่า สรณตฺตย
ในคาถา ก็เป็นคำพูดโดยลบบทหลังคือ คำว่า คมน ไปกล่าวคือ แทนที่จะกล่าวว่า
สรณตฺตยคมนํ ก็กล่าวเสียว่า สรณตฺตยํ.
เป็นอันว่า บุญกิริยา ๓ นี้ที่อาจารย์สำนักอภัยคีรีว่ามา
ก็ถึงความรวมกันอยู่ในทิฏฐุชุกรรมนี่เอง การได้บุญกิริยาเหล่านี้มา
ก็ด้วยอำนาจของทิฏฐุชุกรรมนั่นแหละ. เพราะเหตุที่บุญ ๓
นี้จะเกิดเฉพาะผู้ที่ไม่มีความเห็นผิดเท่นั้น ดังนั้น
จึงรวมอยู่ในทิฏฐุชุกรรมนี้แน่นอน ไม่ควรจัดเป็นบุญกิริยาอีกข้อต่างหาก. ดังนั้น
ท่านสาธุชนอย่าได้ไขว้เขวตามคำพูดของอาจารย์เหล่านั้นเลย จงจัดบุญกิริยา ๑๐
ดังมติของฝ่ายมหาวิหารนี้เท่านั้นเถิด.
*******
ขออนุโมทนา
สมภพ
สงวนพานิช.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น