วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2559

๗๘ : บุญกิริยวัตถุ ๑๐ สงเคราะห์เป็นบุญกิริยาวัตถุ ๓

#๗๘อภิธัมมาวตาราวตาร : เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กามาวจรกุศลจิต : บุญกิริยวัตถุ ๑๐ สงเคราะห์เป็นบุญกิริยาวัตถุ ๓

( เนื้อความช่วงนี้อยู่ใน #คัมภีร์อภิธัมมาวตาร๘ )
ท่านสาธุชนทั้งหลาย เนื้อความของอภิธัมมาวตารได้ดำเนินมาตามลำดับกระทั่งถึงการสงเคราะห์กุศลจิตที่เมื่อเป็นไปย่อมเป็นไปโดยเป็นบุญกิริยาวัตถุ ซึ่งก็หมายความว่า กุศลจิตมีภาพลักษณ์ที่กำหนดได้ง่ายก็คือการกระทำบุญต่างๆทั้ง ๑๐ ประการนั่นเอง.


เมื่อคราวที่แล้วๆมาได้ยกข้อวินิจฉัยและรายละเอียดที่ควรทราบบางประการ ของบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประเภทแล้ว จะเห็นได้ว่า บางข้อจะมีส่วนละม้ายกับบางข้อ และบางข้อโดยมีเป้าหมายและเหตุให้ทำเป็นอันเดียวกับบางข้อ ด้วยเหตุนี้ เมื่อว่าโดยสรุปก็แบ่ง ๑๐ ประเภทนั้นเหลือ ๓ ประเภท ดังนี้

๒๒.คจฺฉนฺติ สงฺคหํ ทาเน,         ปตฺติทานานุโมทนา;
      ตถา สีลมเย ปุญฺเญ,          เวยฺยาวจฺจาปจายนาฯ
๒๓.เทสนา สวนํ ทิฏฺฐิ-            อุชุกา ภาวนามเย;
      ปุน ตีเณว สมฺโภนฺติ,         ทส ปุญฺญกฺริยาปิ จฯ
๒๒-๒๓ อนึ่ง แม้บุญกิริยา ๑๐ นี้ จะจัดว่า มี ๓ เท่านั้น ก็ได้อีก คือ ปัตติทานและอนุโมทนา ถึงการสงเคราะห์เข้าในทานมัย อย่างนั้นเหมือนกัน เวยยาวัจจะและอปจายะ ถึงการสงเคราะห์เข้าในบุญข้อศีลมัย เทสนา สวนะ ภาวะที่ตรงแห่งทิฏฐิ ถึงการสงเคราะห์เข้าในภาวนามัย.

ก่อนอื่นพึงทราบว่า การจัดเป็น ๑๐ ประเภทนี้มาโดยนัยที่มาในคัมภีร์อรรถกถา ส่วนการจัดเป็น ๓ ประเภทมาในพระบาฬีสุตตันตนัย. ก็การจัดเป็น ๓ และ เป็น ๑๐ นั้นไม่มีอะไรเป็นข้อต่างกันในเรื่องของธรรม เพราะเมื่อว่าโดยสภาวะและหน้าที่ก็คงเป็นอันเดียวกัน แต่เมื่อแยกให้เห็นความเป็นไปโดยรายละเอียดก็อาจมีที่ต่างกันบ้างเล็กน้อย.

สำหรับการจัดแบ่งนั้นก็เป็นดังนี้
ปัตติทาน อนุโมทนา สามารถรวมเป็นหัวข้อเดียวกับทานได้ กล่าวคือ บุญกิริยา ๓ ข้อนี้เป็นทานมัยได้ เหตุที่ทาน เป็นปฏิปักษ์ต่ออิสสา (ริษยา) และมัจฉริยะ (ตระหนี่) แม้ปัตติทานและอนุโมทนา ก็เป็นปฏิปักษ์ต่ออิสสาและมัจฉริยะเหมือนกัน, เพราะฉะนั้น ทั้งสามเหล่านั้น จึงสงเคราะห์เข้าเป็นทานมยปุญญกิริยาวัตถุ เพราะมีลักษณะเดียวกับทานเนื่องจากมีปฏิปักขธรรมเหมือนกัน.
เวยยาวัจจะ อปาจยนะ สามารถรวมเป็นข้อเดียวกับศีลได้ กล่าวคือ บุญกิริยา ๓ ข้อนี้เป็นศีลมัย เพราะเวยยาวัจจและอปาจยนะ จัดเป็นศีลประเภทหนึ่งคือจาริตตศีล ศีลที่พึงประพฤติ อันมีหน้าที่กำจัดความทุศีล.
เทสนา สวน ทิฏฐุชุกรรม สามารถรวมเป็นข้อเดียวกับภาวนาได้ กล่าวคือ บุญกิริยา ๔ ข้อนี้เป็นภาวนามัย เพราะทำให้กุศลธรรมทั้งหลายได้รับการเสพคุ้นอบรมขึ้น ได้มีมากขึ้น.
เป็นอันว่า บุญกิริยาทั้งหลายรวมได้ ๓ ประเภทดังกล่าวมานี้

ขออนุโมทนา

สมภพ สงวนพานิช.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น