วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2559

๗๙ : สงเคราะห์บุญกิริยา ๑๐ เป็นบุญกิริยาวัตถุ ๓ อีกนัยหนึ่ง

#๗๙อภิธัมมาวตาราวตาร : เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กามาวจรกุศลจิต : สงเคราะห์บุญกิริยา ๑๐ เป็นบุญกิริยาวัตถุ ๓ อีกนัยหนึ่ง
( เนื้อความช่วงนี้อยู่ใน #คัมภีร์อภิธัมมาวตาร๘ )

เมื่อคราวที่แล้วแสดงการสงเคราะห์บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ เป็น บุญกิริยา ๓ เพื่อการสอดคล้องกันระหว่างบาฬีสุตตันตนัยกับอรรถกถานัย. บัดนี้ยังมีแนวคิดในการสงเคราะห์นั้นอีก ดังนี้
บุคคลเมื่อแสดงหรือฟังธรรม ชื่อว่า ย่อมแสดงและฟัง โดยส่งญาณน้อมตามเทศนานั้นแล้วแทงตลอดลักษณะ, อนึ่ง การเทศนาและฟังธรรมนั้นชื่อว่า ย่อมนำมาซึ่งการแทงตลอดนั่นเทียว ดังนั้น เทสนาและสวนมัยน้ัน ก็ถึงการสงเคราะห์เข้าไว้ในภาวนามัย.

อนึ่ง แม้เทสนานั้น ก็ควรถึงการสงเคราะห์เข้าไว้ในทานมัย โดยเป็นธรรมทาน.
ส่วนทิฏฐุชุกรรม สามารถสงเคราะห์เข้าไปในบุญกิริยาทั้ง ๓ ทีเดียว เพราะมีลักษณะกำหนดหรือย้ำความมีผลมากของบุญทุกประการ. เพราะบุญทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นชนิดใด ถูกชำระให้หมดจดแล้ว ด้วยสัมมาทิฏฐินั่นเองที่เป็นไปโดยนัยเป็นต้นว่า ผลทานมีอยู่ ดังนี้ ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก. ดังสาธกในอรรถกถาทีฆนิกายว่า ทิฏฐุชุกรรม มีสภาวะกำหนดความมีผลมากของบุญกิริยาทุกชนิด.  โดยนัยนี้เป็นอันว่า
เทศนาสงเคราะห์บุญกิริยา ๒ คือ ภาวนา โดยเป็นบุญที่ทำให้บรรลุคุณวิเศษ และ ทาน เพราะเป็นธรรมทาน
สวนมัย สงเคราะห์ในบุญกิริยา ๑ คือ ภาวนา โดยนัยเดียวกับเทศนา
ทิฏฐุชุกรรม สงเคราะห์ในบุญกิริยาทั้ง ๓ เพราะมีสภาพย้ำความมีผลมากของบุญกิริยาทุกอย่าง
อย่างไรก็ตาม การจัดบุญกิริยาวัตถุนอกเหนือจากนี้ คือ เป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๒ ก็มี คือ
๑. ทาน ๒. ศีล ๓. ภาวนา ๔.สังสุติ (ฟัง) ๕.เทสนา ๖.อนุสสติ (ระลึกถึงบุญที่ตนเคยทำ) ๗.โมทนะ (ปัตตานุโมทนา) ๘.เวยยาวัจจะ ๙.บูชา (อปจายนะ) ๑๐. สรณะ (การถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นสรณะ) ๑๑.ปัตติ (ปัตติทาน) และ ๑๒.ปสังสา    (คือ สรรเสริญคุณผู้อื่น) 
ตามนัยนี้ บุญกิริยาวัตถ ๑๒ เกิดขึ้นโดยเพิ่มการระลึกบุญของตน, การถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นสรณะ และ การสรรเสริญบุญผู้อื่น เข้าไป แต่ไม่ถือเอาทิฏฐุชุกรรม. ท่านกล่าวว่ามตินี้เป็นของอาจารย์สำนักอภัยคีรี นิกายมหาสังฆิกะ ในศรีลังกา ที่เป็นอีกฝ่ายหนึ่งจากสำนักมหาวิหารอันเป็นฝ่ายเรา. พระฎีกาจารย์กล่าวว่า พระอาจารย์พุทธทัตตะ ผู้รจนาอภิธัมมาวตารปฏิเสธมตินี้ในคาถาถัดไป เพราะถือว่า ๓ ประการนี้ก็คือทิฏฐุชุกรรมนั่นเอง.
ท่านสาธุชนผู้ใคร่รายละเอียด ในเรื่องการจัดสงเคราะห์บุญกิริยาวัตถุเหล่านี้ตรวจค้นจากอรรถ-กถาทีฆนิาย ปาฏิกวรรค สังคีติสูตร ข้อ ๓๐๕ แล้วถือเอาความพิสดารในอรรถกถานั้นเถิด.

ขออนุโมทนา

สมภพ สงวนพานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น