วันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2559

๘๗ : ลำดับการเกิดขึ้นของกามาวจรกุศลจิตทั้ง ๘ ดวง

#๘๗อภิธัมมาวตาราวตาร : เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กามาวจรกุศลจิต : ลำดับการเกิดขึ้นของกามาวจรกุศลจิตทั้ง ๘ ดวง

ได้กล่าวองค์ประกอบของกามาวจรกุศลจิต ที่เรียกว่า มหากุศลจิต ดวงที่ ๑ ในบรรดา ๘ ดวง ไป ๒ ประการแล้ว คือ เกิดขึ้นพร้อมกับโสมนัสเวทนา และ สัมปยุตด้วยปัญญา บัดนี้จะได้กล่าวถึงองค์ประกอบที่ ๓ คือ ไม่มีการกระตุ้นชักชวน.

ขอทวนสักเล็กน้อย จิตดวงนี้ มีชื่อเต็มว่า กามาวจรกุศลจิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับโสมนัสเวทนา สัมปยุตด้วยญาณ ไม่มีสังขาร (มีชื่อตามภาษาบาฬีว่า โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ).
แต่เมื่อจะอธิบายก็จะนำความเป็นไปของจิตดวงนี้มาแสดง ก็จะประกอบความโดยยกบุคคลเป็นตัวอย่างเพื่อให้เห็นในชีวิตของบุคคลจริงๆ ดังนี้ว่า
ในเวลาใด บุคคลใด อาศัยความถึงพร้อมแห่งไทยธรรม และปฏิคาหกเป็นต้น หรือเหตุแห่งโสมนัสอย่างอื่น เป็นผู้ร่าเริงบันเทิง กระทำสัมมาทิฏฐิ อันเป็นไปโดยนัยว่า “ผลของทานมีอยู่” ดังนี้เป็นต้นไว้เป็นเบื้องหน้า ไม่ท้อแท้อยู่ ไม่ถูกผู้อื่นกระตุ้น กระทำบุญทั้งหลายมีทานเป็นต้น ในเวลานั้น มหากุศลจิตอย่างที่หนึ่ง อันสหรคตด้วยโสมนัส สัมปยุตกับญาณ เป็นอสังขาริก ย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น.
ถึงคราวนี้ จะได้แสดงความเป็นไปของจิตดวงนี้ ที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน อันได้นามว่า อสังขาริกจิต. คัมภีร์ฎีกาของอภิธัมมาวตาร ขยายความคำนี้ไว้ว่า ไม่ท้อแท้ ไม่ถูกผู้อื่นกระตุ้น
อย่างไรจึงเรียกว่า ไม่ท้อแท้. 
คำว่า ท้อแท้ เป็นชื่อของกิริยาอาการที่ไม่มีความกระตือรือร้นในการทำบุญหรือบาป. ในจิตดวงนี้ หมายถึง การถึงความท้อแท้หรือไม่กระตือรือร้นในการทำบุญ เหตุที่ตนถูกกิเลสมีโลภะ และ ความตระหนี่เป็นต้นครอบงำอยู่ ดังนั้น จิตดวงนี้เมื่อเกิดขึ้นกับบุคคลใด บุคคลนั้น ก็จะปราศจากความท้อแท้ แต่มีความแกล้วกล้า มีความอุตสาหะในการทำบุญ ด้วยตนเอง โดยมิต้องถูกบุคคลอื่นหรือแม้แต่ตนเองกระตุ้นให้เกิดอุตสาหะ.  ฉะนี้แหละ ท่านจึงใช้คำพรรณนาว่า เป็นความเป็นไปของบุญที่เกิดขึ้นโดยสภาพของตนเอง โดยไม่ต้องมีใครมากระตุ้น.
เป็นอันว่า จิตดวงนี้ ซึ่งเป็นมหากุศลจิตดวงที่ ๑ ก็เกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้.
#ปัญหาน่าสงสัย
จิตดวงนี้เกิดขึ้นเป็นลำดับแรกกระนั้นหรือ ท่านจึงใช้คำว่า ที่ ๑
หาได้เป็นดังท่านสงสัยไม่. ความจริง การจัดลำดับการแสดงธรรมมี ๒ ประการคือ
๑. จัดลำดับโดยการเกิดขึ้น
๒. จัดลำดับโดยการแสดงเท่านั้น
ในกรณีนี้ การนับว่า จิตดวงนี้ เป็นมหากุศลจิตดวงที่ ๑ ก็คงอยู่ในวิธีการจัดลำดับโดยการแสดงเท่านั้น โดยมิใช่จะต้องเกิดขึ้นเป็นลำดับแรกเสมอไป.

ถามอีกนิดหนึ่ง
ทำไมจิตดวงนี้จึงต้องมีคำว่า “มหา” นำหน้า ควรเรียกว่า กุศลจิตเท่านี้ก็น่าพอ
ข้าพเจ้าใคร่สาธกคำอธิบายจากคัมภีร์ฎีกาอภิธัมมาวตารมาอธิบายให้หายสงสัย
คัมภีร์ฎีกาอธิบายว่า ที่เป็นเช่นนี้    ก็เพราะคำว่า มหา ในที่นี้ มีความหมาย ๒ ประการ คือ
ประการแรก มหา หมายถึง กุศลจิต ที่ยิ่งใหญ่ เพราะในแต่ละดวงบริบูรณ์ด้วยองค์ประกอบ คือ การเกิดขึ้นพร้อมด้วยโสมนัสเวทนา เป็นต้น.
ประการต่อมา มหา หมายถึง กุศลจิตที่ควรบูชา เหตุที่เป็นกุศลจิตอันนำมาซึ่งการกำเนิดขึ้นของพระโพธิสัตว์ทั้งหลายที่จะตรัสรู้เป็นพระอนุตรสัมมาสัมพุทธเจ้า. พระโพธิสัตว์ชนิดนี้ ตามตำราท่านเรียกว่า ปัจฉิมภวิกโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ผู้จะมีภพสุดท้ายแล้ว. เรื่องนี้พระอรรถกถาจารย์ทั้งหลายได้ยืนยันว่า การเกิดขึ้นของพระโพธิสัตว์ที่จะมาตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าทุกพระองค์ จะต้องเป็นผลของจิตที่เป็นอสังขาริก เป็นโสมนัสและประกอบด้วยเหตุ ๓ ที่มีเมตตาออกหน้า.
แต่ในตำราอื่นๆ อธิบายว่า กามาวจรกุศลนี้ ชื่อว่า มหากุศลจิต เพราะเป็นธรรมที่ไม่มีโทษและให้ผลเป็นความสุขและสามารถให้ผลได้มากกว่าตน ทั้งเป็นเบื้องต้นของฌาน อภิญญา มรรค ผล (แบบเรียนพระอภิธรรม “ปรมัตถโชติกะ ปริจเฉทที่ ๑-๒-๖”). หมายความว่า ตนเองเป็นกามาวจรกุศล แต่ยังให้ผลได้มากกว่าตน คือ ให้ผลเป็นรูปาวจร อรูปาวจร และโลกุตระ ได้นั่นเอง.
ดังนั้น เพื่อให้กามาวจรกุศลจิตมีความหมายพิเศษเพิ่มขึ้น ท่านจึงเพิ่มคำว่า มหา โดยนัยดังกล่าวมานี้
กามาวจรกุศลจิต อันได้นามว่า มหากุศลจิต ดวงที่ ๑ โดยการนับ ย่อมเกิดขึ้นได้ดังกล่าวมานี้.

ขออนุโมทนา

สมภพ สงวนพานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น