วันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2559

๘๕: ลำดับการเกิดขึ้นของกามาวจรกุศลจิตทั้ง ๘ ดวง

#๘๕อภิธัมมาวตาราวตาร : เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กามาวจรกุศลจิต : ลำดับการเกิดขึ้นของกามาวจรกุศลจิตทั้ง ๘ ดวง

คราวนี้จะได้ชำระปัญหากรรมในข้อที่ ๒ ว่า ปฏิคาหก คือ ใคร
ปฏิคาหก ได้แก่ ผู้รับเอาซึ่งทานอันเขาให้แล้วนั้น.  ในภาษาไทย บางครั้งนิยมเรียกผู้ รับ มีพระสงฆ์เป็นต้นว่า ปฏิคาหก ตามคำศัพท์เดิมในภาษาบาฬี. ส่วนทายก คือ ผู้ให้ ดังนั้น ทายกและปฏิคาหก ก็เป็นผู้ที่เป็นไปโดยไม่แยกจากกัน.


ความถึงพร้อมแห่งปฏิคาหก ได้แก่ ความเป็นพระทักขิไณยบุคคลผู้เลิศ (พระอรหันต์)
ปัญหากรรมในข้อที่ ๓ คำว่า อาศัยซึ่งความถึงพร้อมแห่งทายกและปฏิคาหก เป็นต้น อยากทราบว่า คำว่า เป็นต้น ย่อเอาไว้ โดยไม่กล่าวถึงความถึงพร้อมแห่งธรรมใด ?
คัมภีร์อภิธัมมาวตารฎีกา ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า
คำว่า ปฏิคาหก เป็นลำดับแรกของเทสะ กาละ และ มิตร เป็นต้น เพราะฉะนั้น เทสะ กาล และมิตรเหล่านั้น ชื่อว่า มีปฏิคาหกเป็นต้น
ดังนั้น ความถึงพร้อมแห่งไทยธรรม ปฏิคาหก เทสะ มิตร และกาล จึงถูกหมายเอาในที่นี้
ความถึงพร้อมแห่งสถานที่ มิตร และกาลเหล่าน้้น คือ อะไร
ความถึงพร้อมแห่งสถานที่ในขณะนั้น คือเป็นสถานที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ หาได้ง่าย ไม่ขาดแคลน
ความถึงพร้อมแห่งกาล คือ ในช่วงเวลานั้น จะต้องมีอาหารอุดมสมบูรณ์เช่นกัน.
ในกรณีนี้ หมายว่า ในสถานที่หรือในเวลาที่มีข้าวปลาอาหารสมบูรณ์ดี ทานที่ให้ย่อมมีผลมาก เพราะอัธยาศัยในการให้ทานมีมาก และ เป็นเหตุแห่งโสมนัสด้วย. เพราะฉะนั้น ความสมบูรณ์แห่งสถานที่และกาลเช่นนั้น จึงเป็นอันกล่าวไว้โดยอาศัยความสมบูรณ์ของวัตถุทาน.
ความถึงพร้อมแห่งมิตร คือ ความมีกัลยาณมิตรและบริวารที่ดี ในเรื่องนี้ท่านแบ่งออกเป็น ๒ กรณี คือ เพราะอาศัยกัลยาณมิตร จิตย่อมเป็นอันถึงความปิติยินดี ในทานเป็นต้น และการมีบริวารที่ดีรู้จักหน้าที่ของตนได้อย่างไม่บกพร่อง โดยไม่ต้องบอกต้องสั่ง
นอกจากนี้ ท่านยังหมายถึง ความมีศรัทธามาก และมีความเห็นถูกต้องอีกด้วย.
ดังนั้น เหตุแห่งโสมนัสดังกล่าวมานี้ คือ ความสมบูรณ์แห่งไทยธรรม ปฏิคาหก สถานที่ กาล มิตร และความมีศรัทธามาก และมีความเห็นถูกต้อง ก็ถือเป็นเหตุให้เกิดโสมนัส.
เมื่ออาศัยเหตุดังกล่าวมานี้ จิตของบุคคลที่ประกอบกุศลมีทานเป็นต้น ในเวลานั้น ก็จะมีกุศลจิตที่เป็นโสมนัสสสหคตจิต.
โสมนัสสหคตจิตในกุศลจิตดวงที่ ๑ มีความเป็นไปดังนี้ ก่อน

ขออนุโมทนา

สมภพ สงวนพานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น