วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2559

๘๖อภิธัมมาวตาราวตาร :ลำดับการเกิดขึ้นของกามาวจรกุศลจิตทั้ง ๘ ดวง

#๘๖อภิธัมมาวตาราวตาร : เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กามาวจรกุศลจิต : ลำดับการเกิดขึ้นของกามาวจรกุศลจิตทั้ง ๘ ดวง

ต่อไปนี้จะกล่าวถึง คุณสมบัติพิเศษของกามาวจรกุศลจิตดวงที่ ๑ อย่างที่ ๒ คือ สัมปยุตกับญาณสืบไป
ท่านแสดงจิตดวงนี้ว่าเป็นญาณสัมปยุตจิต ไว้ด้วยข้อความว่า กระทำสัมมาทิฏฐิ อันเป็นไปโดยนัยว่า “ผลของทานมีอยู่” ดังนี้เป็นต้น ไว้เป็นเบื้องหน้า
ฎีกาอภิธัมมาวตาร ท่านวินิจฉัยคำว่า สัมมาทิฏฐิ ว่าได้แก่ ความเห็นอย่างถูกทาง หรือ ความรู้ถูกต้องอันบัณฑิตสรรเสริญ โดยมีหลักฐานอัางอิง ๒ ประการ คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นถูก อันเป็นมโนกรรม ที่มาในพระบาฬีสาเลยยกสูตร มูลปัณณาสก์ มัชฌิมนิกาย  (๑๒/๔๘๕) นี้ว่า
อตฺถิ ทินฺนํ, อตฺถิ ยิฏฺฐํ, อตฺถิ หุตํ, อตฺถิ สุกตทุกฺกฏานํ กมฺมานํ ผลํ วิปาโก, อตฺถิ อยํ โลโก, อตฺถิ ปโร โลโก, อตฺถิ มาตา, อตฺถิ ปิตา, อตฺถิ สตฺตา โอปปาติกา, อตฺถิ โลเก สมณพฺราหฺมณา สมฺมคฺคตา สมฺมาปฏิปนฺนา, เย อิมญฺจ โลกํ ปรญฺจ โลกํ สยํ อภิญฺญา สจฺฉิกตฺวา อุปสมฺปชฺช วิหรนฺติ
มีความเห็นไม่วิปริตว่า ผลแห่งทานที่ให้แล้วมีอยู่ ผลแห่งการการบูชามีอยู่ ผลแห่งการเซ่นสรวงมีอยู่ ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมีอยู่ โลกนี้มีอยู่ โลกหน้ามีอยู่ มารดามีอยู่ บิดามีอยู่ สัตว์ทั้งหลายที่เป็นอุปปาติกะมีอยู่ สมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบผู้ทำโลกนี้ และโลกหน้าให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนให้ผู้อื่นรู้ได้มีอยู่ในโลกนี้ ดังนี้

๒. เหตุแห่งวิจยสัมโพชฌงค์ ที่เคยกล่าวมาแล้ว จะยกมากล่าวอีกครั้งหนึ่ง
๑) ความหมั่นสอบถามเสาะหาความรู้เกี่ยวกับวิปัสสนาภูมิเป็นต้นและการเจริญสมถวิปัสสนานั้นและไต่ถามปัญหาข้องใจในเรื่องเหล่านั้น กับผู้ทรงความรู้,
๒) การชำระร่างกาย ซักจีวร ทำความสะอาดเสนาสนะเป็นต้น เมื่อจิตเจตสิกของบุคคลนั้นผู้มีร่างกายเป็นต้นสะอาดดีแล้ว เกิดขึ้น ญาณก็มีความแกล้วกล้า เหมือนเปลวประทีป ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยไส้ประทีปและภาชนะบรรจุน้ำมันที่สะอาดฉะนั้น
๓) การทำอินทรีย์มีสัทธินทรีย์เป็นต้นให้สม่ำเสมอมิให้อินทรีย์ใด มีกำลังมากกว่า เมื่อปรับอินทรีย์ให้สมดุลแล้ว จิตที่ประกอบด้วยญาณคือวิปัสสนา ก็จะเกิดขึ้นแก่ผู้นั้น.
๔) การไม่คบคนมีปัญญาทราม
๕) การคบคนมีปัญญาดี
๖) การพิจารณาพุทธจริยาเกี่ยวกับญาณลึกซึ้ง ที่เน้นหนักไปในธรรมมีขันธ์เป็นต้น
๗) การน้อมจิต ตริตรองไปในพุทธจริยานั้นบ่อยๆอยู่

 เมื่อบุคคลกำลังบำเพ็ญบุญอย่างใดอย่างหนึ่งในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ โดยมีความคิดเห็นเช่นนี้เกิดร่วมด้วย แสดงว่า  จิตดวงนั้นของเขามีชื่อว่า ญาณสัมปยุตจิต.
คำว่า กระทำให้เป็นเบื้องหน้า คือ ปัญญาที่มีลักษณะดังกล่าวเป็นไปร่วมกันกับจิตและธรรมที่เกิดร่วมกันในขณะนั้น แต่มีปัญญาเป็นประธาน.
ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในขณะที่บำเพ็ญบุญอย่างใด  เราท่านเมื่อได้ศึกษาพระธรรมคำสอนอันเป็นส่วนปรมัตถ์แล้ว ก็ควรทำความเห็นให้ตรงในขณะทำ หลังทำ และก่อนทำ.  
จิตที่เกิดร่วมกับปัญญามีลักษณะและอาการเป็นไปอย่างนี้.
อนึ่ง สัมมาทิฏฐิดังกล่าวมานี้ เรียกว่า กัมมัสกตาสัมมาทิฏฐิ แม้ปัญญาที่เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ  ยังมีอีก ๕ อย่าง รวมเป็น ๖ อย่าง คือ
๑. กัมมัสกตาสัมมาทิฏฐิ
๒. ฌานสัมมาทิฏฐิ
๓. วิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ
๔. มรรคสัมมาทิฏฐิ
๕. ผลสัมมาทิฏฐิ
๖. ปัจจเวกขณสัมมาทิฏฐิ

ในมหากุศลจิตอันเป็นกามาวจรจิต จะเกิดร่วมกับกัมมัสสกตาสัมมาทิฏฐิและวิปัสนาสัมมาทิฏฐิ ส่วนสัมมาทิฏฐิชนิดอื่น จะเกิดขึ้นกับจิตที่ไม่ใช่กามาวจรจิต ซึ่งไม่ใช่วาระอันควรจะกล่าวในบัดนี้.

ขออนุโมทนา

สมภพ สงวนพานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น