วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2559

#๘๔ : ลำดับการเกิดขึ้นของกามาวจรกุศลจิตทั้ง ๘ ดวง

#๘๔อภิธัมมาวตาราวตาร : เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กามาวจรกุศลจิต : ลำดับการเกิดขึ้นของกามาวจรกุศลจิตทั้ง ๘ ดวง
ดูคัมภีร์อภิธัมมาวตารแปล http://aphidhammavatara.blogspot.com/2016/05/blog-post_2.html
กามาวจรกุศลจิต เมื่อกล่าวโดยเกี่ยวกับความเป็นไป จะมีความผูกติดอยู่กับธรรม ๓ ประการ คือ
๑. สังขาร
๒. ญาณ
๓. เวทนา


ธรรม ๓ นี้ เป็นเหตุใหญ่ให้กามาวจรกุศลจิตแยกเป็น ๘ ดวงตามความประกอบและไม่ประกอบ. ความเป็นไปของจิต ๘ ดวงนี้ที่มีองค์ประกอบหลักๆ ดังกล่าวมา เพราะการกล่าวโดยโวหารที่เป็นไปตามธรรมล้วนๆ ท่านทั้งหลายอาจนึกภาพไม่ออกว่า ถ้าเกิดกับเราจะมีลักษณะเช่นไร แต่ถ้าแสดงโดยความเป็นไปกับบุคคล ก็จะทำความเข้าใจได้ชัดเจนขึ้น
จิตดวงที่ ๑ อันได้ชื่อว่า
กามาวจรกุศล ที่เกิดร่วมด้วยโสมนัส ประกอบกับญาณ ไม่มีสังขาร
สามารถแสดงด้วยปุคคลาธิฏฐาน ดังนี้
ในเวลาใด บุคคลใด อาศัยความถึงพร้อมแห่งไทยธรรม และปฏิคาหกเป็นต้น หรือเหตุแห่งโสมนัสอย่างอื่น เป็นผู้ร่าเริงบันเทิง กระทำสัมมาทิฏฐิ อันเป็นไปโดยนัยว่า “ผลของทานมีอยู่” ดังนี้เป็นต้นไว้เป็นเบื้องหน้า ไม่ท้อแท้อยู่ ไม่ถูกผู้อื่นกระตุ้น กระทำบุญทั้งหลายมีทานเป็นต้น ในเวลานั้น มหากุศลจิตอย่างที่หนึ่ง อันสหรคตด้วยโสมนัส สัมปยุตกับญาณ เป็นอสังขาริก ย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น.
----
จิตดวงที่ ๑
สหรคตด้วยโสมนัส เกิดร่วมกับโสมนัส ตรงกับข้อความว่า เป็นผู้ร่าเริงบันเทิง
ญาณสัมปยุต ประกอบกับญาณ ตรงกับข้อความว่า กระทำสัมมาทิฏฐิ อันเป็นไปโดยนัยว่า “ผลของทานมีอยู่” ดังนี้เป็นต้น ไว้เป็นเบื้องหน้า
อสังขาริก ตรงกับข้อความว่า ไม่ท้อแท้อยู่ ไม่ถูกกระตุ้น
ข้อความเหล่านี้ แสดงองค์ประกอบหลัก ๓ ประการดังกล่าวของจิตดวงนี้
-----
คำว่า กระทำบุญทั้งหลายมีทานเป็นต้น ก็เป็นอันแสดงบุญกิริยาวัตถุนั้น
คำว่า อาศัยความถึงพร้อมแห่งไทยธรรมและปฏิคาหกเป็นต้น ชื่อว่า เป็นเหตุให้จิตดวงนี้เป็นจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา
ตรงนี้เป็นความโดยสาระ ที่ท่านควรจะกำหนดเป็นเบื้องต้นในการอ่านคัมภีร์.
-----


รายละเอียดของข้อความเหล่านี้ ควรทราบไว้เพื่อความไพบูลย์แห่งภูมิปริยัติ
ยกตัวอย่าง คำว่า ไทยธรรม ท่านทราบหรือไม่ว่า คืออะไร คำว่า ปฏิคาหก คือ ใคร แถมด้วยมีคำว่า เป็นต้น อีกด้วย น่าสงสัยว่า ท่านย่อสิ่งใดไว้โดยยังไม่กล่าวถึงอีก
ในเรื่องเหล่านั้น  ควรจัดเป็นหัวข้อ เพื่อสะดวกในการเรียนรู้
๑. ไทยธรรม มีความหมายว่ากระไร ได้แก่ สิ่งใด และ ความสมบูรณ์แห่งไทยธรรม ได้แก่ อะไร
๒. ปฏิคาหก คือ ใคร
๓. คำว่า เป็นต้น ย่อสิ่งใดไว้
๔. เหตุโสมนัสอย่างอื่น คือ
๕. สัมมาทิฏฐิมีความเป็นไปอย่างไร
๖. กระทำไว้เป็นเบื้องหน้า หมายถึง กระทำอย่างไร
๗. ไม่ท้อแท้ ต่างจาก ไม่ถูกกระตุ้น หรือไม่
๘. มหากุศลจิต สรุปว่า ได้ชื่อนี้ โดยแยกศัพท์เป็นอย่างไรบ้าง ควรรู้ไว้.

ต่อไปนี้ จะวิสัชชนาปัญหาที่ได้ตั้งไว้นั้น

๑. ไทยธรรม มีความหมายว่า กระไร ได้แก่ สิ่งใดและ ความสมบูรณ์แห่งไทยธรรม ได้แก่ อะไร
ไทยธรรม แปลว่า สิ่งอันควรให้ มาจากภาษาบาฬีว่า เทยฺยธมฺม
เทยฺย = อันควรให้
ธมฺโม = วัตถุอันถูกกำหนด
มีวจนัตถะว่า
ทาตพฺโพติ  เทยฺโยฯ 
สิ่งอันควรให้ ชื่อว่า เทยยะ

อริยติ อุปลกฺขิยตีติ  ธมฺโมฯ
สิ่งของอันถูกกำหนด ชื่อว่า ธรรม

เทยฺโย  ธมฺโม  เทยฺยธมฺโม อนฺนาทิ ทสวิธํ  วตฺถุฯ
สิ่งของอันบัณฑิตกำหนดไว้ว่า เป็นของควรให้ ชื่อว่า ไทยธรรม ได้แก่ วัตถุ ๑๐ มีน้ำเป็นต้น
(อภิธัมมัตถวิภาวินี อัตถโยชนา ๑/๒๔๓)

อีกนัยหนึ่ง
ทาตพฺโพ ธมฺโม เทยฺยธมฺโม
วัตถุธรรมอันควรให้ ชื่อว่า ไทยธรรม.
(อภิธัมมัตถวิกาสินี)
ไทยธรรม ได้แก่ ทานวัตถุ ๑๐ ประการมีน้ำและข้าวเป็นต้น ดังพระบาฬีนี้ว่า
‘‘อนฺนํ ปานํ วตฺถํ ยานํ,             มาลาคนฺธวิเลปนํ;
เสยฺยาวสถปทีเปยฺยํ,               ทานวตฺถู ทสาวิเม’’ติฯ
ทานวัตถุ ๑๐ ประการเหล่านี้ คือ
อนฺน ข้าว, ปาน น้ำดื่ม, วตฺถํ ผ้า, ยานํ รถ, มาลาคนฺธวิเลปน ของหอม เครื่องลูบไล้, ที่นอน, ที่อยู่ ประทีป.

นอกจากนี้ ยังได้แก่ ปัจจัย ๔ คือ บิณฑบาต จีวร เสนาสนะ และคิลานเภสัช.

ความสมบูรณ์แห่งไทยธรรม คือ วัตถุทาน ๑๐ หรือ ปัจจัย ๔ เหล่านี้ ก็เป็นเหตุให้โสมนัสสหคตจิตเกิดได้
ความสมบูรณ์แห่งไทยธรรม (เทยฺยธมฺมสมฺปตฺติ) ได้แก่ ความประณีตและน่าพอใจของไทยธรรม และ ความเกิดขึ้นโดยชอบธรรม แห่งไทยธรรม นั่นเอง.

นี่ป็นการชำระปัญหากรรมในข้อที่ ๑ ว่า
ไทยธรรมคืออะไร ความสมบูรณ์แห่งปัจจัยไทยธรรม ได้แก่ อะไร จบ

ขออนุโมทนา

สมภพ สงวนพานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น