วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2559

๘๓ : ลำดับการเกิดขึ้นของกามาวจรกุศลจิตทั้ง ๘ ดวง

#๘๓อภิธัมมาวตาราวตาร : เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กามาวจรกุศลจิต : ลำดับการเกิดขึ้นของกามาวจรกุศลจิตทั้ง ๘ ดวง

#คัมภีร์อภิธัมมาวตาร (http://aphidhammavatara.blogspot.com/2016/05/blog-post_2.html ) ได้กล่าวถึง กามาวจรกุศลจิตโดยลำดับการเกิดขึ้นไว้ดังนี้


๑. ในเวลาใด บุคคลใด อาศัยความถึงพร้อมแห่งไทยธรรม และปฏิคาหกเป็นต้น หรือเหตุแห่งโสมนัสอย่งอื่น เป็ฯผู้ร่าเริงบันเทิง กระทำสัมมาทิฏฐิ อันเป็นไปโดยนัยว่า “ผลของทานมีอยู่” ดังนี้เป็นต้นไว้เป็นเบื้องหน้า ไม่ท้อแท้อยู่ ไม่ถูกผู้อื่นกระตุ้น กระทำบุญทั้งหลายมีทานเป็นต้น ในเวลานั้น.
๒. ส่วนในเวลาใด บุคคลเป็นผู้ร่าเริงบันเทิงตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นเทียว กระทำสัมมาทิฏฐิไว้เป็นเบื้องหน้า ท้อแท้อยู่ ถูกผู้อื่นกระตุ้น จึงกระทำบุญทั้งหลายมีทานเป็นต้น, ในเวลานั้น จิตของเขาดวงนั้นนั่นแหละเป็นสสังขาริก (เป็นมหากุศลจิตอย่างที่ ๒). ในความข้อนี้ คำว่า สังขาร เป็นชื่อของบุพโยคะ (ความพยายามที่เป็นไปก่อนหน้า) ที่เป็นไปโดยเกี่ยวกับของตนหรือของคนอื่น.
๓. ส่วนในเวลาใด พวกเด็กอ่อนผู้เกิดความคุ้นเคย เพราะเห็นการปฏิบัติของชนผู้เป็นญาติ เห็นภิกษุทั้งหลายแล้วเกิดโสมนัส ถวายของบางอย่าง ที่มีอยู่ในมือไปโดยเร็วบ้าง ในเวลานั้น จิตอย่างที่ ๓ ย่อมเกิดขึ้นแก่พวกเด็กอ่อนเหล่านั้น.
๔. ส่วนในเวลาใด ชนผู้เป็นญาติทั้งหลาย กล่าวกะพวกเด็กอ่อนเหล่านั้นว่า “พ่อเจ้าประคุณเอ๋ย เจ้าจงถวาย เจ้าจงไหว้” ดังนี้ พวกเด็กอ่อน เป็นผู้ถูกชนผู้เป็นญาติกระตุ้นอย่างนี้แล้ว จึงถวายของที่อยู่ในมือบ้าง ไหว้บ้าง ในเวลานั้นจิตอย่างที่ ๔ ย่อมเกิดขึ้นแก่พวกเด็กอ่อนเหล่านั้น.
๕. ส่วนในเวลาใด บุคคลอาศัยความไม่ถึงพร้อมแห่งไทยธรรมและปฏิคาหกเป็นต้น หรือความไม่มีเหตุแห่งโสมนัสอย่างอื่น จึงเป็นผู้ปราศจากโสมนัสในวิกัปทั้ง ๔ ในเวลานั้น จิตที่สหรคตด้วยอุเบกขา ๔ อย่างที่เหลือ ย่อมเกิดขึ้นฉะนี้แล.
พึงทราบกามาวจรกุศลจิต ๘ อย่าง โดยความต่างกันแห่งโสมนัส อุเบกขา ความประกอบร่วมกัน และไม่ประกอบร่วมกันกับญาณเป็นต้น ตามประการที่กล่าวมาแล้วนี้.
ในคัมภีรอภิธัมมาวตาร สรุปจิต๘ ที่มาในพระบาฬีธัมมสังคณี  โดยความเป็นไป กล่าวคือ
ในพระบาฬีจะกล่าวถึงจิตโดยธรรมที่เกิดร่วมกัน เรียกว่า สัมปยุตธรรม ส่วนในอรรถกถาจะแสดงโดยความเป็นไป.
อีกนัยหนึ่ง ในพระบาฬีแสดงโดยธัมมาธิฏฐาน เพราะไม่ได้แสดงธรรมเข้าไว้ในตัวบุคคล แสดงความเป็นไปของธรรมล้วนๆ แต่ในอรรถกถาต่างๆ จะแสดงโดยปุคลาธิฏฐาน คือ ประกอบบุคคลเข้าไปให้เห็นเวลาที่จิตนี้เกิดขึ้นกับบุคคล.
รายละเอียดที่ควรทราบกับคำศัพท์ในอภิธัมมาวตาร จะได้นำคำอธิบายจากฎีกามาสรุปเล่าสู่กันฟังในคราวต่อไป
ขออนุโมทนา

สมภพ สงวนพานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น