วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๒๗ : ลักขณาทิจตุกกะของกุศล นัยที่ ๒ (จบลักขณาทิจตุกกะของกุศล)

#๒๗อภิธัมมาวตาราวตาร : เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กุศลชาติ : ลักขณาทิจตุกกะของกุศล นัยที่ ๒ (ต่อและจบลักขณาทิจตุกกะของกุศล)

กุศลมีโยนิโสมนสิการเป็นปทัฏฐาน

ช่วงสุดท้ายของการพรรณนาความหมายของ “กุศล” และคำว่า “กุศล” มาถึงแล้ว

เมื่อคราวที่แล้วได้กล่าวถึงปทัฏฐานของกุศลว่า ได้แก่ โยนิโสมนสิการ.

โยนิโสมนสิการ คือ  การใส่ใจโดยอุบายวิธี กล่าวคือ คิดอย่างถูกวิธี โดยประการที่จะให้ธรรมไม่มีโทษ คือ กุศลจิตเกิด คือ ไม่ให้ตกไปในฝ่ายธรรมมีโทษ คือ อกุศลจิต.

ยกตัวอย่าง (ตามนัยพระสูตร) ท่านให้พิจารณาต่ออารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งโดยความเป็นทุกข์ ไม่เที่ยง ไม่งาม และไม่ใช่อัตตา การพิจารณาเช่นนี้ เรียกว่า โยนิโส เพราะเป็นเหตุให้กุศลประกอบด้วยวิปัสสนาปัญญาเกิด. ส่วนการพิจารณาต่ออารมณ์ต่างๆที่เข้ามาถึงตัวอย่างถูกวิธีที่ทำให้กุศลชั้นสามัญเกิด ก็ควรถือเอานัยนี้ว่า ความคิดโดยประการที่ให้กุศลเกิด ชื่อว่า โยนิโสมนสิการ เพราะความคิดนั้นเกิดขึ้นจึงมีกุศลเกิดขึ้น. อาทิ อุบายวิธีระงับความโกรธ ตามที่ปรากฏในพระสูตรหลายแห่ง ก็ชื่อว่า โยนิโสมนสิการ.

เมื่อว่าโดยประเภทธรรม ได้แก่  ธรรมไม่มีโทษ นี้แหละถูกจัดเข้าไว้ธรรมฝ่ายโยนิโสมนสิการ. เนื่องจากเป็นธรรมที่ไม่เป็นปัจจัยแก่ธรรมมีโทษอย่างใดอย่างหนึ่ง

อีกนัยหนึ่ง เมื่อว่าโดยสภาวธรรมอันเป็นปรมัตถ์  ก็ได้แก่ อาวัชชนจิต ที่เรียกว่า มโนทวาราวัชชนะ ที่เกิดขึ้น โดยความบริบูรณ์แห่งธรรม ๔ คือ การอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม การได้คบหาสัตบุรุษ ตั้งตนไว้ชอบ และเคยได้สั่งสมบุญมาในอดีต แล้วตัดกระแสภวังค์ โดยจะเป็นปัจจัยให้แก่กุศลธรรมทั้งหลาย ในขณะที่มีอารมณ์มาถึงทวารท้ั้งหกของปุถุชนผู้ยังมีกิเลส.

นี่เป็นสำนวนคัมภีร์ที่แปลจากภาษาบาฬี. จะขอสรุปเอาแต่ใจความก็พอได้ว่า เป็นจิตชนิดหนึ่ง ที่เมื่อผู้เป็นเจ้าของจิตนั้นได้รับการอบรมจากธรรม ๔ ประการมีการอยู่ในถิ่นเหมาะสมเป็นต้น ก็จะมีจิตดวงนี้เกิดขึ้น และเมื่อเกิดขึ้น จะเป็นปัจจัยให้จิตกลายจากภวังคจิตเป็นกุศลจิต.

ยังมีอีกนัยหนึ่ง ได้แก่ หากไม่เล็งเอาความเป็นโยนิโสและอโยนิโส เพราะเป็นไปในสันดานพระขีณาสพได้แก่ อาวัชชนะ ที่เรียกว่า อัพยากตมนสิการ เพราะไม่พึงกล่าวโดยเป็นโยนิโสและอโยนิโสนั้น เนื่องจากมิได้เป็นปัจจัยแก่กุศลและอกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเว้นเพียงเป็นความเกิดขึ้นในอารมณ์ที่มาถึงคลอง.

สรุป โยนิโสมนสิการในที่นี้ได้แก่

๑) ธรรมไม่มีโทษอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ไม่เป็นปัจจัยให้ธรรมมีโทษเกิดขึ้น
๒) มโนทวาราวัชชนจิต ที่ได้รับการสะสมบริบูรณ์จากธรรม ๔ มีการอยู่ในถิ่นอันเหมาะสมเป็นต้น
๓) อัพยากตมนสิการ คือ อาวัชชนจิตที่เกิดแก่พระอรหันตขีณาสพ

มนสิการที่ยกมาทั้งหมดนี้ อาจดูเยอะและเหนือความจำเป็น แต่ก็ขอนำมาประกอบไว้ตามนัยที่ฎีกาอธิบายไว้ เพื่อความครบถ้วนไม่ขาดไปของเนื้อความที่คัมภีร์ฎีกาได้นำเสนอไว้ ขอให้นักศึกษาได้รับทราบเพื่อสะสมสุตะไว้ หากในคราวที่จะต้องเจอข้อความเหล่านี้ในคัมภีร์อื่นอีก

เป็นอันจบสภาวธรรมที่เรียกว่า กุศล ตามที่คัมภีร์อภิธัมมาวตารเรียกไว้โดยคล้อยตามสำนวนนิยมของพระอภิธรรมว่า “กุศลชาติ” ด้วยถ้อยคำเพียงเท่านี้

ทบทวนเรื่องราวของกุศลชาติที่มาในคัมภีร์อภิธัมมาวตาร :

ตตฺถ กุสลนฺติ ปเนตสฺส โก วจนตฺโถ?
๑๐.
กุจฺฉิตานํ สลนโต,         กุสานํ ลวเนน วา;
กุเสน ลาตพฺพตฺตา วา,   กุสลนฺติ ปวุจฺจติฯ

ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น คำว่า กุศล มีคำจำกัดความว่าอย่างไรบ้าง

๑๐. คำว่า กุศล ที่ใช้เรียกกันนี้ หมายถึง
- ธรรมที่สร้างความหวั่นไหวให้แก่ธรรมที่น่ารังเกียจ
- ธรรมที่ตัดอกุศลธรรมที่เรียกกันว่า กุสะ
- ธรรมที่ถูกปัญญาที่เรียกกันว่า กุสะ ให้ดำเนินไป.

๑๑.          
     เฉเก กุสลสทฺโทยํ,        อาโรคฺเย อนวชฺชเก;
     ทิฏฺโฐ อิฏฺฐวิปาเกปิ,      อนวชฺชาทิเก อิธฯ
ตสฺมา อนวชฺชอิฏฺฐวิปากลกฺขณํ กุสลํ, อกุสลวิทฺธํสนรสํ, โวทานปจฺจุปฏฺฐานํฯ วชฺชปฏิปกฺขตฺตา อนวชฺชลกฺขณํ วา กุสลํ, โวทานภาวรสํ, อิฏฺฐวิปากปจฺจุปฏฺฐานํ, โยนิโสมนสิการปทฏฺฐานํฯ

คำว่า กุสล นี้มีใช้ในความหมาย เฉกะ ฉลาด, อาโรคยะ ความไม่มีโรค, อนวัชชะ ธรรมไม่มีโทษ, อิฏฐวิปากะ อำนวยผลที่น่ายินดี
สำหรับที่เกี่ยวข้องกับสภาวธรรมนี้ จะใช้ในความหมายว่า อนวัชชะ ธรรมไม่มีโทษ และ อิฏฐวิปากะ อำนวยผลที่น่ายินดี.
เพราะเหตุที่คำศัพท์ว่า กุสล มีความหมายว่า กำจัดธรรมน่ารังเกียจคืออกุสล, ไม่มีโทษ และอำนวยผลที่น่ายินดี ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น ฉะนั้น กุศลจึง
๑) มีธรรมไม่มีโทษซึ่งมีผลที่น่ายินดีเป็นลักษณะ ****
๒) มีการทำลายอกุศลเป็นกิจ
๓) มีความผ่องแผ้วเป็นปัจจุปัฏฐาน (อาการปรากฏ)
นอกจากจะมีความไม่มีโทษและมีวิบากน่าปรารถนาเป็นลักษณะเป็นต้นแล้ว กุศล
๑) มีความหาโทษมิได้เป็นลักษณะ เนื่องจากเป็นปฏิปกษ์ต่อธรรมมีโทษ
๒) มีความผ่องแผ้วเป็นรส
๒) มีวิบากน่าปรารถนาเป็น ปัจจุปัฏฐาน (ผลปรากฏ)
๔) มีโยนิโสมนสิการ (ความใส่ใจไว้ถูกวิธีอันเป็นเหตุให้กุศลเกิด) เป็นปทัฏฐาน คือ เหตุใกล้


ขอส่งท้ายด้วยข้อความในพระอภิธัมมาวตารว่า

ชนเหล่าใด ข้ามห้วงน้ำใหญ่คืออภิธรรมปิฎกด้วยอภิธัมมาวตาร 
ชนเหล่านั้น ย่อมข้ามโลกนี้ และโลกอื่นได้ทีเดียว แล.

ขออนุโมทนา

สมภพ สงวนพานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น