วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๑๕ : คำว่า กุสล ที่มีความหมายว่า อิฏฐวิบาก มีวิบากน่าปรารถนา

#๑๕อภิธัมมาวตาราวตาร : เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กุศลชาติ : คำว่า กุสล ที่มีความหมายว่า อิฏฐวิบาก มีวิบากน่าปรารถนา 

คำว่า กุสล (กุศล) ถูกใช้ในความหมายมากกว่าหนึ่ง และได้คัดแยกที่ใช้ไม่ได้ในที่นี้ออกไป และแสดงที่ใช้ได้มา ๑ คือ อนวัชชะ มาแล้ว คราวนี้จะได้เสนอความหมายว่า อิฏฐวิบาก ต่อจากคราวที่แล้ว.

คำว่า อิฏฐวิบาก มาจาก

อิฏฐ = น่าปรารถนา, น่ายินดี, สบาย, สุข
วิบาก = ผลที่สำเร็จสามารถอำนวยผลต่อไปเหมือนอย่างเหตุ.  ถือเอาง่ายๆว่า  เป็นผลสุกงอมที่ส่งผลให้ผู้ทำกุศลไปปฏิสนธิในมนุษย์และเทวภูมิได้ เหมือนเมล็ดที่เป็นผลผลิตของพืชที่สามารถขยายพันธ์ เจริญเติบโตเป็นต้นพืชเหมือนต้นแม่พันธ์ของตนในสถานที่ต่างๆ ได้.

อิฏฐผล นี้เป็น ถือเป็นผลของกุศล ที่นับว่าเป็นสิ่งที่สรรพสัตว์ล้วนปรารถนา ดังนั้น กุศลจึงชื่อว่าเป็นเหตุแห่งความเจริญงอกงามแห่งชีวิต. ในพระบาฬีได้นำคำว่า กุสล มาใช้ในความหมายที่เป็นเหตุแห่งอิฏฐผล ดังนี้ อาทิ

‘‘กุสลานํ ธมฺมานํ สมาทานเหตุ เอวมิทํ ปุญฺญํ วฑฺฒติ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุญนี้เจริญขึ้นอย่างนี้ เพราะเหตุถือมั่นธรรมทั้งหลายอันเป็นกุศล ฯ

ข้อความนี้มาในพระบาฬีทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค จักกวัตติสูตร (๑๑/๓๓) ที่พระผู้มีพระภาคตรัสเตือนให้ภิกษุทั้งหลายได้ตระหนักถึงการประพฤติกุสลธรรมคือการตั้งมั่นในสติปัฏฐาน.

กุศลธรรมมี ๒ อย่างคือ วัฏฏคามี กุศลนำไปสู่วัฏฏะ, วิวัฏฏคามี กุศลนำออกจากวัฏฏะ

ในกุศล ๒ อย่างนั้น จิตที่อ่อนโยนของมารดาบิดาด้วยอำนาจที่มีความรักในบุตรธิดา และจิตที่อ่อนโยนของบุตรธิดาด้วยอำนาจที่มีความรักในมารดาบิดา ชื่อว่า วัฏฏคามีกุศล. โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการมีประเภทเป็นต้นว่า สติปัฏฐาน๔ ชื่อว่า วิวัฏฏคามีกุศล.

ในกุศลเหล่านั้น สำหรับกุศลที่เป็นวัฏฏคามีศิริสมบัติของพระเจ้าจักรพรรดิ์ ในมนุษย์โลกเป็นที่สุด. สำหรับกุศลที่เป็นวิวัฏฏคามีมรรคผลและนิพพานสมบัติเป็นที่สุด

กุสลธรรมเหล่านั้นจะเป็นเหตุให้ผลบุญที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระเจริญขึ้นอย่างนี้. ผลบุญฝ่ายโลกียะน่าปรารถนาเพียงใด เราท่านต่างประจักษ์อยู่แน่แท้ ดังนั้น ผลบุญฝ่ายโลกุตตระ คงมิต้องบรรยายให้มากความว่ามีความสุขน่าปรารถนาปานใด.

อีกตัวอย่างหนึ่ง ที่จะให้ท่านได้พิจาณาไตร่ตรองดู

กุสลสฺส กมฺมสฺส กตตฺตา อุปจิตตฺตา
จักขุวิญญาณเป็นวิบาก สหรคตด้วยอุเบกขา มีรูปเป็นอารมณ์ เกิดขึ้นเพราะกามาวจรกุศลกรรมอันได้กระทำไว้แล้ว ได้สั่งสมไว้แล้ว

ตัวอย่างของศัพท์นี้มาจากพระบาฬีอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณีปกรณ์ (๓๔/๓๓๘)  ที่เป็นยถาสภาวเทสนา ซึ่งเป็นเป้าหมายการศึกษาของคัมภีร์อภิธัมมาวตาร.

คำว่า กุสล ในบาฬีนี้  จึงตรงประเด็นที่สุดว่า กุสลธรรม คือ ธรรมที่มีวิบากเป็นสุขเป็นลักษณะ.  ด้วยว่า วิบากคือผลของกุศล ย่อมเป็นธรรมอันน่ายินดีตามกุสลอันเป็นเหตุแน่นอน.

สรุปว่า ความหมายของคำว่า กุสล ดังได้แสดงมาทั้งหมดในคัมภีร์นี้มีอยู่   ๔  คือ เฉกะ ฉลาด, อาโรคยะ ความไม่มีโรค, อนวัชชะ ธรรมไม่มีโทษ, อิฏฐวิปากะ อำนวยผลที่น่ายินดี

บรรดาความหมาย ๔ เหล่านั้น

ความหมายอย่างแรก คือ เฉกะ ไม่ตรงประเด็นที่สมควรในปกรณ์นี้,

ความหมายอย่างที่ ๒ คือ อาโรคยะ แม้มีมาในคัมภีร์อรรถกถา ท่านก็ไม่ถือเอาในที่นี้ เพราะต้องการให้สอดคล้องกับลักษณะของกุศล ดังจะกล่าวถึงในลำดับถัดไป

ดังนั้น จึงมีความหมายอย่างที่ ๓ คือ อนวัชชะ

และ อย่างที่ ๔ คือ อิฏฐวิปากะ เท่านั้น ที่ถูกเอาโดยตรงในที่นี้ ซึ่งจะขยายความโดยพิสดารต่อไป ภายใต้หัวข้อว่า กุศล มีความไม่มีโทษและอำนวยผลที่น่ายินดีเป็นลักษณะ

ขอความชำนาญในกุสล จงบังเกิดมีแด่ท่านทั้งหลาย ขอเจตสิกโรคะ ของท่านจงบำราศไป ขอธรรมมีโทษจงอย่าเกิด และ อิฏฐิผลแห่งกุศลจงเป็นไปทั้งโลกนี้และโลกหน้า เทอญ

ขออนุโมทนา
สมภพ สงวนพานิช.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น