วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๒๔: ลักขณาทิจตุกกะของกุศล นัยที่ ๒ (ต่อ)

#๒๔อภิธัมมาวตาราวตาร : เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กุศลชาติ : ลักขณาทิจตุกกะของกุศล นัยที่ ๒ (ต่อ)

กุศลมีความผ่องแผ้วเป็นรส

ผู้ใคร่ต่อการศึกษาพระอภิธรรมทั้งหลาย เมื่อสังเกตข้อความนี้ถี่ถ้วนดีแล้ว จะพบว่า มีส่วนคล้ายกับที่เคยกล่าวแล้วในนัยที่ ๑ คือ กุศลมีการกำจัดอกุศลเป็นรส และ มีความผ่องแผ้วเป็นปัจจุปัฏฐาน. แต่ในที่นี้ ความผ่องแผ้วที่เคยเป็นปัจจุปัฏฐาน เหตุไรท่านเอามาแสดงโดยความเป็นรส.  

นอกจากนี้ ความผ่องแผ้วจะเป็นกิจหรือหน้าที่ได้อย่างไร. ปัญหานี้น่าสงสัย แต่พระฎีกาจารย์ช่วยเฉลยข้อคับข้องใจเหล่านี้ไว้

คำว่า รส ในที่นี้มีความหมายว่า ภาวะที่ตนถึงความสมบูรณ์. แท้ที่จริง รส ในทางพระศาสนามีใช้หลายความหมาย เช่น

๑. สภาวธรรมอย่างหนึ่งอันชิวหาวิญญาณเท่านั้นจะพึงรู้ได้ ได้แก่ รสารมณ์
๒. หน้าที่การงานของสภาวธรรม ได้แก่ กิจรส
๓. ความสมบูรณ์ของสภาวธรรม ความถึงพร้อม ได้แก่ สัมปัตติรส
๔. การทำสามีจิกรรมต่อกัน ได้แก่ สามัคคีรส
๕. คุณสมบัติอันเป็นเครื่องสังเกต ได้แก่ ลักขณรส

ในลักขณาทิจตุกกะนี้ หมายถึง กิจรส และ สัมปัตติรส. การแสดงกิจรสและสัมปัตติรส ไม่เป็นอันแน่นอน เพราะบางสภาวะก็แสดงไว้ถึง ๒ รส และบางสภาวะแสดงไว้เพียงรสเดียว อย่างใดอย่างหนึ่ง.

สำหรับกุศลนี้ ท่านแสดงนัยที่ ๒ ไว้โดยความเป็นสัมปัตติรสว่า มีความผ่องแผ้วเป็นสัมปัตติรส เพราะความบริบูรณ์ของกุศล ก็โดยภาวะที่ไม่แปดเปื้อนมัวหมองด้วยกิเลสมลทิน.

ขออนุโมทนา

สมภพ สงวนพานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น