วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๓๖ อัพยากตชาติ : วจนัตถะ คือ ความหมายของคำว่า อัพยากตะ (ต่อ)

#๓๖อภิธัมมาวตาราวตาร : เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
อัพยากตชาติ : วจนัตถะ คือ ความหมายของคำว่า อัพยากตะ (ต่อ)

เมื่อคราวที่แล้วได้นำท่านศึกษาสภาวะของอัพยากตะโดยคำศัพท์ไปแล้ว แต่ความหมายของคำว่า อัพยากตะ ยังเหลืออีกคำหนึ่ง คือ คำว่า #ไม่ควรแก่วิบาก ที่แสดงไว้เพื่อกำหนดสภาวะของอัพยากตะ.

คำว่า ไม่ควรแก่วิบาก คือ ความไม่เหมาะสมเพื่อจะให้วิบาก เพราะไม่มีความสามารถในกิจนั้น.

เหตุไรจึงต้องกล่าวคำนี้ไว้อีก กล่าวเพียง อัพยากตะ เป็นอันผิดแปลกไปจากกุศลและอกุศลทั้งสองเป็นลักษณะ เท่านี้ก็พอแล้วมิใช่หรือ?

ตอบ ถึงเข้าใจคำดังกล่าวว่า “อัพยากตะ #มีอันผิดแปลกไปจากกุศลและอกุศลทั้งสองเป็นลักษณะ” ดังนี้แล้ว แต่บางคนอาจคิดสงสัยไปว่า “อัพยากตะมีอยู่จริงหรือ” เพราะทิฏฐธัมมเวทนียกรรมเป็นต้น ก็ไม่มีวิบาก, อกุศลที่มรรคอันชื่อภาวนา พึงละ ก็ไม่มีวิบาก, อภิญญากุศลก็ไม่มีวิบาก. ดังนั้น คำว่า ไม่ควรแก่วิบาก จะช่วยป้องกันความสงสัยดังกล่าวเสียได้.

ข้อสรุปในเรื่องนี้ว่า เฉพาะทิฏฐธัมมเวทนียกรรม จะไม่ให้วิบากก็ในกรณีที่ตนเว้นจากปัจจัยที่เอื้อต่อการให้ผลในชาติปัจจุบัน แต่ถ้ามีปัจจัยพร้อมมูล ก็ให้ผลได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ การไม่ให้วิบากของทิฏฐธัมมเวทนียกรรม จึงเป็นธรรมที่ไม่มีวิบากชั่วคราว, แต่อัพยากตะ จะเป็นเช่นนั้นก็หามิได้, คือ เป็นสภาพที่ไม่ควรแก่วิบาก เนื่องจากไม่สามารถในการให้วิบากไม่ว่าจะกรณีใดๆ ด้วยเหตุนี้แหละ ความไม่ควรแก่วิบาก จึงชื่อว่า อัพยากตะ. ส่วนอภิญญาถูกสงเคราะห์อยู่ในธรรมฝ่ายกุศลและอกุศลที่ภาวนาพึงละก็ถูกสงเคราะห์อยู่ในธรรมฝ่ายอกุศล ก็มีเหตุผลดังที่เคยกล่าวมาแล้วตอนว่าด้วยจิตมีวิบาก คงจะไม่กล่าวซ้ำอีก.

เป็นอันจบอัพยากตชาติ พร้อมทั้งการจำแนกจิตโดยชาติทั้งสาม คือ กุศลชาติ อกุศลชาติ และอัพยากตชาติตามคัมภีร์อภิธัมมาวตาร โดยเรียบเรียงจากคำพรรณนาที่มาในคัมภีร์ฎีกาอภิธัมมาวตาร อันชื่อว่า อภิธัมมัตถวิกาสินี แต่เพียงนี้

ขออนุโมทนา

สมภพ สงวนพานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น