วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๕๗ : คำว่า กาม ในความหมายว่า ถูกกิเลสกามใคร่

#๕๗อภิธัมมาวตาราวตาร เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กามาวจรกุศลจิต : คำว่า กาม ในความหมายว่า ถูกกิเลสกามใคร่

( เนื้อความช่วงนี้อยู่ใน #คัมภีร์อภิธัมมาวตาร๕ )

เมื่อคราวที่แล้ว ได้นำคำว่า กาม มาอธิบายโดยหลักภาษา และได้อธิบายเฉพาะคำว่า กาม ที่หมายถึง กิเลสกาม ผู้ใคร่ ที่เป็นคำศัพท์ชนิด กัตตุการก ไปแล้ว วันนี้จะอธิบายคำว่า กาม ที่หมายถึง วัตถุกาม ตามหลักภาษาต่อไป.

คำว่า กาม อันหมายถึง วัตถุกาม ก็ประกอบด้วยกลุ่มอักษรสองส่วน คือ ธาตุ ได้แก่ กมุ แปลว่า ใคร่, และ ปัจจัย ได้แก่ ณ อักษร แม้กระบวนการปรุงรูปศัพท์ก็เหมือนกับ กาม อันหมายถึง กิเลสกาม ทุกประการ แต่มีสิ่งสำคัญที่ทำให้ต่างกัน คือ คำนิยาม ที่กำหนดทิศทางของคำศัพท์.

ก่อนอื่น การกในหลักภาษาถูกแบ่งออกเป็น ๖ คือ

กัตตุการก คำศัพท์ใช้สื่อถึงผู้ทำกิริยา เช่น กาโม ผู้ใคร่
กัมมการก คำศัพท์ใช้สื่อถึงผู้ถูกทำ เช่น กาโม ผู้ถูกใคร่
กรณการก คำศัพท์ใช้สื่อถึงสิ่งเป็นเครื่องมือช่วยทำให้สำเร็จ เช่น ..
สัมปทานการก คำศัพท์ใช้สื่อถึงสิ่งเป็นที่รับการให้ เช่น ..
อปาทานการก คำศัพท์ใช้สื่อถึงสถานที่เป็นแดนแยกออกไปหรือแหล่งกำเนิด เช่น
โอกาสการก คำศัพท์ใช้สื่อถึงสถานที่ตั้ง เช่น ...

ในที่นี้จะกล่าวถึง กาโม ในแง่เกี่ยวกับ กัมมการก เท่านั้น เพราะกัตตุการกก็ได้กล่าวถึงไปแล้วและการกที่เหลือจะของดเสีย เพราะไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อความของพระอภิธรรมในที่นี้

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า เมื่อต้องการให้คำศัพท์ที่ตนจะกล่าวถึงมีทิศทางสื่อถึงความหมายอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาการก ๖ ก็ให้ตั้งคำนิยามหรือรูปวิเคราะห์ ดังนั้น คำว่า กาม แม้ที่มีความหมายว่า กิเลสกาม ผู้ใคร่ ยังมีความหมายว่า ถูกใคร่ ได้อีก ตามรูปวิเคราะห์ดังนี้

กามียติ อิติ กาโม แปลว่า วัตถุอันถูกกิเลสกามใคร่ ชื่อว่า กาม ได้แก่ วัตถุกาม.

ในกรณีนี้ คำว่า กาม จะเป็นคำศัพท์ที่สื่อถึงวัตถุอันถูกใคร่ ตามคำนิยามดังกล่าว โดยเป็นคำศัพท์ชนิด “กัมมการก” เพราะเป็นคำศัพท์ที่สำเร็จมาจากรูปวิเคราะห์ที่สื่อถึงกรรม คือ ผู้ถูกทำ ได้แก่ ถูกกิเลสกามใคร่นั่นเอง. และเมื่อจะย้ำความว่า ได้แก่ วัตถุที่ถูกใคร่ ไม่ใช่เป็นผู้ใคร่ ท่านจึงเติมคำว่า วัตถุไว้ข้างหน้า เป็น วัตถุกาม.

เป็นอันว่า คำว่า กาม ที่ใช้ในพระพุทธศาสนา เป็นคำศัพท์ ๒ ชนิด คือ กัตตุการก และ กัมมการก โดยที่เป็นกัตตุการก ได้แก่ กิเลสกาม และ ที่เป็น กัมมการก ได้แก่ วัตถุกาม.

คัมภีร์อภิธัมมาวตารได้ยกประเด็นนี้ขึ้นชี้แจงว่า 

สิชฺฌติ ทุวิโธเปสกาโม โว การกทฺวเยฯ 
เพราะเหตุนั้น กามทั้ง ๒ นี้จึงสำเร็จในการกทั้งสอง.


ขออนุโมทนา 

สมภพ สงวนพานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น