วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๔๓ : ความหมายของชื่อว่า โสมนัสสสหคต เกิดร่วมกับโสมนัสสเวทนา

#๔๓อภิธัมมาวตาราวตาร : เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กามาวจรกุศลจิตดวงที่ ๑: ความหมายของชื่อว่า โสมนัสสสหคต เกิดร่วมกับโสมนัสสเวทนา
ท่านทั้งหลายทบทวนเนื้อความทั้งหมดในช่วงนี้ได้ที่  #คัมภีร์อภิธัมมาวตาร๔

ความเดิมตอนที่แล้วได้กล่าวถึง #กามาวจรกุศลจิตดวงที่๑ ที่มีชื่อเต็มว่า กุศลจิต อันเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ประกอบกับญาณ ไม่มีสังขาร และได้อธิบายที่มาของคำว่า โสมนัส ว่าได้แก่  #สุขเวทนาอันเป็นเหตุของคำว่าใจดีหรือผู้มีใจดี
คราวนี้จะกล่าวถึงความเป็นไปของจิตดวงนี้โดยความสัมพันธ์กับโสมนัสสเวทนานั้น
ก็จิตดวงนี้เป็นไปโดยอาการที่เป็นไปร่วมกัน ผสมเข้าด้วยกัน หรือประกอบเป็นอันเดียวกันกับโสมนัสสเวทนาจับต้ังแต่เกิดขึ้นกระทั่งดับไป ก็หรือว่า ถึงความเกิดขึ้นพร้อมกับโสมนัส ดับพร้อมกับโสมนัสเป็นต้น จึงเรียกจิตนี้โดยอาการดังกล่าวนั้นว่า  #เป็นไปร่วมกับโสมนัส เขียนโดยอาศัยคำเดิมในภาษาบาฬีเป็น โสมนัสสสหคตะ โดยคำนี้มาจาก โสมนัสส = โสมนัสสเวทนา + สหคต เกิดหรือเป็นไปร่วมกัน = โสมนัสสสหคต เป็นไปร่วมกันกับโสมนัสสเวทนาตั้งแต่เกิดขึ้นจนกระทั่งดับไป. เรียกคำนี้ว่า สหรคตด้วยโสมนัส ก็มีบ้าง
ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นอันวิสัชชนาในปัญหากรรมที่ ๒ ว่า #อย่างไรจึงเรียกว่าสหคตะ คือ เกิดร่วม
ต่อไปเป็นการวิสัชชนาในปัญหากรรมที่ ๓ ว่า #คำว่าสหคต เกิดร่วมกัน ต่างกับ คำว่า สัมปยุต คือ ประกอบ อย่างไร
ข้อนี้ตอบว่า ต่างกันเพียงจุดประสงค์ในการใช้คำศัพท์ ส่วนความหมายไม่ต่างกันเลย เพราะไม่ว่าจะสัมปยุตก็ดี สหรคต ก็ดี ต้องมีความสัมพันธ์กับจิตโดยเกิดขึ้น ผสมกัน ประกอบร่วมกันกับโสมนัส หรือ ญาณ ตังแต่เกิดขึ้นจนดับไปเหมือนกัน. เหตุที่ทำให้ใช้คำว่า สหรคตกับโสมนัส และ สัมปยุตกับญาณ เพราะ สหคต ไม่มีคำที่ใช้ปฏิเสธคือไม่มีคำว่า อสหคตะ ไม่เกิดร่วม เพราะจิตต้องเกิดร่วมกับเวทนาทุกดวง แต่จิตที่ไม่เกิดร่วมกับญาณก็มี ดังนั้น การใช้คำศัพท์ว่า สัมปยุต ก็เพื่อกระทบถึงการใช้คำศัพท์ว่าวิปยุต หมายถึงจิตที่ไม่เกิดร่วมกับญาณนั่นเอง
ส่วนคำวิสัชนาในปัญหากรรมที่ ๔ ว่า #มีอะไรเป็นเหตุให้โสมนัสสหคตจิตดวงนี้เกิดขึ้น ขอยกไปกล่าวคราวหน้า
ขออนุโมทนา

สมภพ สงวนพานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น