วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๔๖: ชื่อว่า #ญาณสัมปยุต #ประกอบด้วยญาณ ของจิตดวงที่ ๑

#๔๖อภิธัมมาวตาราวตาร : เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กามาวจรกุศลจิตดวงที่ ๑: ชื่อว่า #ญาณสัมปยุต #ประกอบด้วยญาณ ของจิตดวงที่ ๑

เนื้อความทั้งหมดของอภิธัมมาวตารช่วงนี้อยู่ใน  #คัมภีร์อภิธัมมาวตาร๔

ได้อธิบายเหตุให้ได้ชื่อว่า โสมนัสสหคต เป็นไปร่วมกับโสมนัส อันเป็นวรรคแรกของชื่อทั้งหมดของ #กามาวจรกุศลจิตดวงที่๑ ดวงนี้.

ต่อไปวรรคที่ ๒ คือ #ญาณสัมปยุต #ประกอบด้วยญาณ หรือ ปัญญา. ควรทำปัญหากรรมเพื่อวิสัชชนาโดยนัยก่อน

๑. #ญาณคืออะไร
๒. #อย่างไรจึงเรียกว่าสัมปยุต คือ ประกอบ
๓. #คำว่าสหคต เกิดร่วมกัน ต่างกับ คำว่า สัมปยุต คือ ประกอบ อย่างไร
๔. #มีอะไรเป็นเหตุให้ญาณสัมปยุตจิต ดวงนี้เกิดขึ้น

ต่อไปเป็นคำวิสัชชนาในปัญหากรรมเหล่านั้น

ญาณ ในที่นี้ คือ ปัญญา อันเป็นสภาวธรรมที่รู้ หมายถึง รู้อย่างแจ่มแจ้งตามควรแก่สภาวธรรม
จิตประกอบโดยประการทั้งหลายมีเกิดขึ้นพร้อมกัน ดับพร้อมกัน มีอารมณ์เดียวกันกับธรรมนี้  ชื่อว่า สัมปยุต จิตที่ประกอบด้วย .. .

ด้วยประการดังนี้ สัมปยุตกับสหคตะ จึงไม่มีอะไรต่างกันโดยนัยที่กล่าวแล้วในโสมนัสสหคตจิต

เหตุให้ญาณสัมปยุตจิตดวงนี้เกิดขึ้น

ญาณสัมปยุตจิตจะเกิดได้ด้วยเหตุดังต่อไปนี้

๑. การงาน คือ การที่บุคคลครั้นทำกรรมที่เป็นไปเพื่อปัญญาอาทิ แสดงธรรม สอนศิลปวิทยา อาชีพที่ไม่มีโทษต่างๆ ศึกษาเล่าเรียนด้วยตนเอง ได้อาราธนาให้พระธรรมกถึกแสดงธรรม จนกระทั่งในที่สุดทำบุญอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วปรารถนาความมีปัญญาแห่งตน, กุศลที่อาศัยการงานที่เป็นไปเพื่อปัญญาเหล่านี้ เกิดขึ้น ก็เป็นกุศลที่ประกอบด้วยญาณ ดังนี้

๒. การเกิดขึ้นในโลกปราศจากการเบียดเบียน กล่าวคือ พรหมโลก จะประกอบด้วยปัญญา

๓. การที่อินทรีย์คือร่างกายบริบูรณ์เต็มที่ ได้แก่ อยู่ในวัยที่เรียกว่า ปัญญาทสกะ คือ ช่วงสิบปีของมนุษย์อันจะเป็นวัยที่มากด้วยปัญญา ท่านกล่าวว่า ได้แก่ ช่วงสิบปีที่ ๕ คือ ๕๐ ถึง ๖๐ ปี

๔. การห่างไกลจากกิเลส โดยการข่มไว้ด้วยกำลังสมถวิปัสสนา

๕. การประพฤติธรรม ๗ ประการอันเป็นเหตุแห่งธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ คือ
ความหมั่นสอบถาม (เสาะหาความรู้เกี่ยวกับวิปัสสนาภูมิเป็นต้นและการเจริญสมถวิปัสสนานั้นและไต่ถามปัญหาข้องใจในเรื่องเหล่านั้น กับผู้ทรงความรู้),
การชำระร่างกาย ซักจีวร ทำความสะอาดเสนาสนะเป็นต้น เมื่อจิตเจตสิกของบุคคลนั้นผู้มีร่างกายเป็นต้นสะอาดดีแล้ว เกิดขึ้น ญาณก็มีความแกล้วกล้า (เหมือนเปลวประทีป ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยไส้ประทีปและภาชนะบรรจุน้ำมันที่สะอาดฉะนั้น)
การทำอินทรีย์มีสัทธินทรีย์เป็นต้นให้สม่ำเสมอมิให้อินทรีย์ใดมีกำลังมากกว่า เมื่อปรับอินทรีย์ให้สมดุลแล้ว จิตที่ประกอบด้วยญาณคือวิปัสสนา ก็จะเกิดขึ้นแก่ผู้นั้น.
การไม่คบคนมีปัญญาทราม
การคบคนมีปัญญาดี
การพิจารณาพุทธจริยาเกี่ยวกับญาณลึกซึ้ง ที่เน้นหนักไปในธรรมมีขันธ์เป็นต้น
การน้อมจิต ตริตรองไปในพุทธจริยานั้นบ่อยๆอยู่

๖. การเจริญอนุสสติทั้ังหลายมีพุทธานุสสติเป็นต้น

๗. ความเป็นผู้มีติเหตุกปฏิสนธิ

ธรรมเหล่านี้แหละเป็นเหตุให้กุศลจิต #ประกอบด้วยญาณ เรียกว่า #ญาณสัมปยุต. ท่านทั้งหลายพิจารณาเลือกเฟ้นธรรมเหล่านี้ไปประพฤติปฏิบัติเถิด ข้อนี้จะเป็นปัจจัยให้เกิดญาณสัมปยุตกุศลจิตแก่ท่านตลอดกาลนาน

ขออนุโมทนา

สมภพ สงวนพานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น