วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๒๑ : ลักขณาทิจตุกกะของกุศล นัยที่ ๑ (ต่อ)

#๒๑อภิธัมมาวตาราวตาร : เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กุศลชาติ : ลักขณาทิจตุกกะของกุศล นัยที่ ๑ (ต่อ)

กุศล มีความไม่มีโทษอันมีวิบากน่าปรารถนาเป็นลักษณะ
กุศลนั่นเองก็มีการทำลายอกุศลเป็นรส (กิจ)
การเข้าถึงสภาวธรรมนอกจากจะพิจารณาโดยลักษณะแล้ว ถ้าได้ทราบกิจของสภาวธรรมนั้นแล้วจักได้เลือกใช้สภาวธรรมให้ตรงต่อหน้าที่และความสามารถของธรรมนั้น.

คำว่า รส ในที่นี้ ได้แก่ กิจ คือ หน้าที่ของกุศล.
หน้าที่ของกุศลโดยทั่วไปคือ ทำลายอกุศลตามสมควรแก่ประเภทกุศลต่างๆ กล่าวคือ
๑) กามกุศล บางที่เรียกกามาวจรกุศล บางที่เรียกว่า ปริตตกุศล ทำลายอกุศลโดยตทังคปหาน
๒) มหัคคตกุศล ทำลายอกุศลโดยวิกขัมภนปหาน
๓) โลกุตตรกุศล ทำลายอกุศลโดยสมุจเฉทปหาน

ประเด็นน่าศึกษา
อะไรคือตทังคปหานเป็นต้น อาศัยอะไรทำให้แยกเป็นปหาน ๓

ปหาน คือ การทำลาย เป็นคำศัพท์ที่นิยมใช้ในความหมายว่า การทำลายกิเลส มากกว่าหมายถึงการทำลายอย่างอื่น. ด้วยเหตุนี้ ท่านจะนำคำว่า ปหาน มาประกอบกับศัพท์ที่บ่งถึงขีดขั้นการทำลายกิเลสโดยแบ่งเป็น ๓ ระดับ คือ

๑) ตทังคปหาน = ตทังคะ + ปหาน. คำว่า ตทังคะ คือ ส่วนคือกุศลและส่วนคือกิเลส.  ส่วนคำว่า ปหาน คือ การทำลาย เมื่อรวมสองคำแล้วได้ความหมายว่า “การทำลายส่วนคือกิเลสมีความตระหนี่เป็นต้น ด้วยองค์คือกุศลนั้นๆ (ที่เป็นคู่ปรับ) ที่ถึงความเป็นปุญญกิริยามีทานเป็นต้น”
การทำลายกิเลสของตทังคปหานของกามกุศลคือบุญกิริยามีทานเป็นต้นนี้ มีอานุภาพเพียงทำลายอกุศลไปในขณะที่ตนดำรงอยู่, แต่เมื่อตนหมดไป อกุศลนั้นก็กลับมาครอบงำบุคคลได้อีก เพราะกามาวจรกุศลมีอานุภาพเล็กน้อย เหมือนแสงประทีปที่ทำลายความมืด (ครั้นประทีปดับไป ก็ถูกความมืดกลับมาครอบงำได้อีก) ฉะนั้น.
สรุปความว่า การกำจัดส่วนฝ่ายกิเลส ด้วยส่วนฝ่ายกุศลมีทานเป็นต้น มีความตระหนี่เป็นต้น ตราบเท่าที่อานุภาพของกุศลนั้นกำลังดำรงอยู่ ชื่อว่า ตทังคปหาน.

๒) วิกขัมภนปหาน = วิกขัมภนะ + ปหาน คำว่า วิกขัมภนะ คือ  ข่ม ได้แก่ การห้ามมิให้เป็นไป. วิกขัมภนปหาน หมายถึง การทำลายโดยห้ามมิให้เป็นไป ที่มีชื่อเรียกว่า วิกขัมภนะ. ห้ามกิเลสชนิดไหน? ห้ามกิเลสชนิดที่เรียกว่า นิวรณ์  ด้วยกุศลที่เรียกว่า ฌานทั้งสองประเภทคือ อุปจารฌานและอัปปนาฌาน.
การทำลายกิเลสของวิกขัมภนปหานด้วยมหัคคตกุศลที่เรียกว่า ฌาน นี้ มีอานุภาพทำลายกิเลสมีกามฉันทะเป็นต้น ที่เรียกว่า นิวรณ์ ที่ถูกตนข่มไว้ ถูกห้ามไว้มิให้เป็นไป,  ถึงแม้ในเวลาที่ตนหมดอำนาจแล้ว ด้วยกำลังของตน กิเลสเหล่านั้น ก็ยังไม่กลับมาครอบงำบุคคลอีกในเวลารวดเร็ว อุปมาเหมือนกับการแหวกออกไปของจอกแหนที่ลอยอยู่เหนือผิวน้ำที่ถูกแรงกระแทกผิวน้ำของหม้อ ฉะนั้น. จริงอย่างนั้น จอกแหนที่ถูกแหวกให้ห่างกันด้วยแรงกระแทกอย่างหนักหน่วงของหม้อน้ำ ถึงจะยกหม้อขึ้นจากน้ำแล้ว ก็ยังไม่กลับมาปกคลุมผิวน้ำอย่างรวดเร็วด้วยแรงกระแทกของหม้อนั่นเอง ฉะนั้น.
 สรุปความว่า การข่มโดยห้ามมิให้นิวรณ์เป็นไป ด้วยอำนาจของฌาน ชื่อว่า วิกขัมภนปหาน.

๓) สมุจเฉทปหาน = สมุจเฉท + ปหาน. คำว่า สมุจเฉทะ คือ การขาดสิ้นไปอย่างดี.  สมุจเฉทปหาน หมายถึง การทำลายกิเลสอย่างหายสาบสูญ ที่เรียกกันว่า การทำให้ถึงการไม่เกิดขึ้นอีกเป็นธรรมดา
อานุภาพของการทำลายกิเลสของสมุจเฉทปหานด้วยโลกุตรกุศลนี้ สามารถทำลายกิเลสชนิดฝังรากลึกอยู่ในจิตตสันดาน ที่มีชื่อเรียกว่า อนุสัย จนหมดสิ้นไม่มีอะไรเหลือ ในขณะที่ตนเกิดขึ้นมาเท่านั้นถึงจะเพียงขณะจิตเดียวก็ตาม.  รุกขชาติใหญ่น้อยทั้งหลาย ครั้นถูกอสนีบาตสายฟ้าฟาดแม้เพียงครั้งเดียว ก็เป็นอันขาดสะบั้นทะลายสิ้นไปพร้อมกับรากเหง้าของตน ไม่งอกขึ้นอีก ฉันใด. กิเลสชาตทั้งหลายก็ฉันนั้น เมื่อถูกโลกุตรกุศลกล่าวคืออริยมรรคนี้ทำลายแล้ว  จะไม่กลับมาอยู่ในจิตตสันดานอีกต่อไป แม้เพียงจะเป็นอนุสัยก็ตาม.

ปหานทั้งสามนี้ ถือเป็นหน้าที่ของธรรมที่เรียกว่า กุศล ด้วยประการฉะนี้.

ขออนุโมทนา

สมภพ สงวนพานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น