วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๒๓ : ลักขณาทิจตุกกะของกุศล นัยที่ ๒ (ต่อ)

#๒๓อภิธัมมาวตาราวตาร : เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กุศลชาติ : ลักขณาทิจตุกกะของกุศล นัยที่ ๒ (ต่อ)

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า กุศล

มีความไม่มีโทษอันมีวิบากน่าปรารถนาเป็นลักษณะ
มีการทำลายอกุศลเป็นรส (กิจ)
มีความผ่องแผ้วเป็นปัจจุปัฏฐาน คือ อาการที่ปรากฏต่อญาณ.
แต่ยังมีลักษณะเป็นต้นอีกนัยหนึ่งที่ควรรู้.  

คัมภีร์อภิธัมมาวตาร ได้แสดงนัยที่ ๒ ไว้ดังนี้

วชฺชปฏิปกฺขตฺตา อนวชฺชลกฺขณํ วา กุสลํ,
โวทานภาวรสํ,
อิฏฺฐวิปากปจฺจุปฏฺฐานํ,
โยนิโสมนสิการปทฏฺฐานํฯ

นอกจากจะมีความไม่มีโทษและมีวิบากน่าปรารถนาเป็นลักษณะเป็นต้นแล้ว
กุศล มีความหาโทษมิได้เป็นลักษณะ เนื่องจากเป็นปฏิปกษ์ต่อธรรมมีโทษ
มีความผ่องแผ้วเป็นรส
มีวิบากน่าปรารถนาเป็นปัจจุปัฏฐาน
มีโยนิโสมนสิการ (ความใส่ใจไว้ถูกวิธีอันเป็นเหตุให้กุศลเกิด) เป็นปทัฏฐาน คือ เหตุใกล้

นัยนี้มีความต่างกันเล็กน้อยจากนัยที่เคยกล่าวมาแล้ว. 

ที่ว่า มีความเป็นธรรมหาโทษมิได้เป็นลักษณะ

คำว่า หาโทษมิได้ ควรเข้าใจดังนี้ อกุศล เรียกว่า อวัชชธรรม เพราะเป็นธรรมมีโทษ. ส่วนกุศลเรียกว่า อนวัชชธรรม  เพราะเป็นธรรมอันหาโทษมิได้.

การหาโทษมิได้ ในที่นี้ มิได้หมายถึง ความไม่มีโทษเท่านั้น อีกทั้งจะเป็นธรรมอย่างอื่นจากธรรมมีโทษ ก็ไม่ใช่ แต่หมายถึง เป็นธรรมที่กำจัดอกุศลธรรมทีเดียว ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงทิ้งท้ายเพื่อย้ำความข้อนี้ไว้ว่า เนื่องจากเป็นปฏิปักษ์ต่อธรรมมีโทษ.

ในเรื่องนี้ ควรทราบความเป็นจริงของธรรมก็คือ กุศลและอกุศลจัดเป็นธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ คือ  เป็นข้าศึกโดยตรงต่อกัน โดยแบ่งเป็นคนละฝ่าย คือ  กุศล เป็นธรรมกำจัด อกุศล เป็นธรรมถูกกำจัด เปรียบเหมือนแสงสว่างเป็นปฏิปักษ์กับความมืด ที่กำจัดความมืด ฉะนั้น. เป็นความจริงว่า เมื่อแสงสว่างปรากฏ ความมืดก็หายไปในทันใด ฉันใด, กุศล พอเกิด อกุศล ก็หายไป ฉันนั้น. สำนวนพระอภิธรรมเรียกสภาพอย่างนี้แหละว่า “เป็นข้าศึกโดยตรงต่อกันและกัน”. ด้วยประการดังนี้ กุศลจึงเป็นปฏิปักษ์ต่อธรรมมีโทษ.
นอกจากนี้ยังมีแง่มุมบางประการที่น่าสนใจ.

ด้วยคำว่า เพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อธรรมมีโทษ ท่านพระพุทธทัตตเถระ ประสงค์จะกันอัพยากตธรรมออกจากลักษณะเช่นนี้ คือ ถ้ามิได้ประกอบข้อความทิ้งท้ายนี้ไว้ นักศึกษาอาจเข้าใจว่า คำว่า อนวัชชะ อาจมีความหมายว่า เป็นอื่นจากธรรมมีโทษ เพราะอัพยากตะ ก็ได้ชื่อว่า ไม่มีโทษเช่นเดียวกับกุศล แต่ไม่ความสามารถในการทำลายหรือขจัดธรรมมีโทษ เช่นเดียวกับกุศลนั่นเอง

เป็นอันว่า กุศลมีความเป็นปฏิปักษ์ต่อธรรมมีโทษเป็นลักษณะ ด้วยประการฉะนี้ รายละเอียดในเรื่องนี้จะพบในการศึกษาขั้นสูงขึ้นไปตามลำดับ ในเวลานี้ยังมิใช่กาลอันควรเพื่อขยายความเหล่านี้.

ขออนุโมทนา

สมภพ สงวนพานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น