วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๕๐ : ความต่างกันของจิตดวงที่ ๑ และ ที่ ๒

#๕๐อภิธัมมาวตาราวตาร : เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กามาวจรกุศลจิตดวงที่ ๒: ความต่างกันของจิตดวงที่ ๑ และ ที่ ๒ 

เนื้อความทั้งหมดของอภิธัมมาวตารช่วงนี้อยู่ใน  #คัมภีร์อภิธัมมาวตาร๔

เป็นอันได้กล่าวถึงความหมายแห่งข้อความ คือ จิตที่เป็นไปร่วมกับโสมนัส ประกอบด้วยปัญญา #มีการกระตุ้นชักชวน ที่เป็นชื่อของ #กามาวจรจิตดวงที่๑ นี้.

แม้ใน #กามาวจรกุศลจิตดวงที่๒ ก็มีความเป็นไปคล้ายกับจิตดวงที่ ๑ ต่างกันเพียงดวงที่ ๒ นี้เป็นจิตมีความกระตุ้นหรือความพยายามก่อนหน้าที่ปรุงแต่งจิตให้เข้มแข็งเป็นต้น ที่เรียกว่า สังขาร ดังได้กล่าวมาแล้วนั้นเอง. คำว่า มีการกระตุ้นชักชวน มีคำศัพท์ที่ใช้เฉพาะคือ สสังขาริก ดังจะพรรณนาต่อไปนี้

ความหมายโดยทั่วไปของคำว่า สสังขาริก จะเหมือนกันกับ อสังขาริก ดังนั้นจะกล่าวถึงเฉพาะส่วนที่ต่างออกไป

คำว่า สสังขาริก มาจาก ส + สังขาร + ณิก ที่กลายเป็น อิก โดยนัยก่อน

= เป็นไปพร้อมกับ, มี

(ในกรณีนี้ ฎีกาท่านอธิบายว่า ถ้าแปลว่า เป็นไปพร้อมกับ คือ เน้นความมีและความไม่มีที่มีความเป็นไปร่วมกัน ของสังขาร, แต่ถ้าแปลว่า มี ก็จะเน้นเพียงเอาความมีและไม่มีของสังขารนั้นเท่านั้นแต่เพียงอย่างเดียวว่า จิตนี้มีสังขาร โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่า จิตและสังขารจะต้องเป็นไปร่วมกัน เหตุที่ว่า สังขารกล่าวคือความพยายามของตนและของผู้อื่น เป็นไปต่างขณะ ต่างบุคคลกัน)

สังขาร = ความเพียรก่อนหน้า, ความเข้มแข็งที่ปรุงแต่งจิต, ความซบเซาที่เกิดจากมลทินมีความตระหนี่เป็นต้น และปัจจัยที่มีกำลังมากขึ้น ดังได้กล่าวมาแล้ว รายละเอียดขอให้ย้อนไปดูได้ในคราวที่ ๔๗, ๔๘, ๔๙.

อิก = ไม่มีความหมาย เว้นไว้แต่ในความหมายว่า ปัจจัยมีกำลังมาก แปลว่า มี

เมื่อนำ ส สังขาร และ อิก มารวมกัน เป็น สสังขาริก คือ จิตที่เป็นไปพร้อมกับสังขาร หรือ จิตที่มีสังขาร โดยประการดังกล่าวมาแล้ว

ในกรณีที่สังขารมีความหมายว่า ปัจจัยพิเศษมีอุตุและอาหารประณีตเป็นต้น สสังขาริก จึงหมายถึงจิตที่ปัจจัยของตนเอง จึงเป็นจิตที่มีกำลังไม่มากเป็นพิเศษเหมือนอสังขาริกจิต ที่จะทำให้เกิดความอาจหาญในการทำบุญกุศลได้.

ด้วยประการดังนี้ จึงประกอบความเพื่อความกำหนดความจำเกี่ยวกับจิตดวงนี้ ดังนี้

สสังขาริกจิต คือ #จิตที่มีหรือเป็นไปพร้อมกับสังขารคือความพยายามก่อนหน้า ทั้งของตนและของผู้อื่น ที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดความเข้มแข็ง

สสังขาริกจิต คือ #จิตที่มีหรือเป็นไปพร้อมกับสังขารคือความเข้มแข็งของจิตที่เป็นเครื่องปรุงแต่งจิต

สสังขาริกจิต คือ #จิตที่มีหรือเป็นไปพร้อมกับสังขารคือความซบเซาของจิตอันเกิดจากมลทินคือความตระหนี่เป็นต้น

สสังขาริกจิต คือ #จิตที่มีหรือเป็นไปพร้อมกับสังขารคือปัจจัยของตน

(ในกรณีนี้ ในฎีกาท่านอธิบายว่า เพราะเหตุที่ไม่ได้ประกอบด้วย อ อันเป็นอักษรที่ย้ำให้เห็นความเพิ่มมากเป็นอย่างพิเศษ ดังนั้น สังขารในที่นี้จึงเป็นเพียงปัจจัยของตน สสังขาริกจิต จึงเป็นจิตที่มีกำลังไม่มาก ต่างจากอสังขาริกที่ได้ปัจจัยกำลังแรงเพิ่มมากขึ้น จึงมีกำลังมากขึ้น)

สำหรับเหตุที่ทำให้จิตเป็นสสังขาริก ก็มีนัยตรงข้ามกับเหตุของจิตเป็นอสังขาริก

ขออนุโมทนา

สมภพ สงวนพานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น