วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๒๖ : ลักขณาทิจตุกกะของกุศล นัยที่ ๒ (ต่อ)

#๒๖อภิธัมมาวตาราวตาร : เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กุศลชาติ : ลักขณาทิจตุกกะของกุศล นัยที่ ๒ (ต่อ)

กุศลมีโยนิโสมนสิการเป็นปทัฏฐาน

ใกล้ถึงช่วงสุดท้ายของการพรรณนาความหมายของ “กุศล” และคำว่า “กุศล”

ไม่ว่าจะกุศลจะมีลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐาน ที่แตกต่างกันบ้างโดยนัยที่ ๑ หรือ นัยที่ ๒ ก็ตาม แต่จะต้องมีโยนิโสมนสิการเป็นปทัฏฐาน เพราะฉะนั้น โยนิโสมนสิการ จึงถือเป็นเหตุที่อยู่ใกล้ๆตัว เป็นเหตุที่สำคัญมากที่จะขาดไม่ได้ เพราะเมื่อไม่มีโยนิโสฯ กุศล ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ต่อเมื่อโยนิโสฯ เกิด กุศลจึงเกิดขึ้น

ปทัฏฐานเป็นอย่างไร?

ก่อนอื่น คำว่า ปทัฏฐาน หมายถึง เหตุใกล้ที่สำคัญ. คำนี้มาจาก ปท แปลว่า เหตุ + ฐาน ก็แปลว่า เหตุ. ธรรมดาว่า การใช้คำพูดที่มีความหมายเดียวกันสองคำมาประกอบกัน แสดงถึงจุดมุ่งหมายที่ต้องการให้ทราบว่า ความหมายนี้จะมีความพิเศษยิ่งกว่าธรรมดา ด้วยเหตุนี้ ปทัฏฐาน ที่มาจากคำว่า ปท และ ฐาน ที่มีความหมายว่า เหตุ ด้วยกันทั้งสองคำ จึงหมายถึง เหตุพิเศษ ที่ไม่ใช่เหตุทั่วไป. ภาษาหรือสำนวนอภิธรรมเรียก ปทัฏฐานนี้ว่า อาสันนเหตุ เหตุใกล้ เพราะเป็นเหตุที่ใกล้กับตัวที่สุด ซึ่งมีกำลังแรงมากพอที่จะทำให้สภาวะนี้เกิด ส่วนเหตุอย่างอื่น อาทิ อดีตกรรม อารมณ์ และวัตถุ เป็นต้นเป็นเหตุทั่วไปและเป็นเพียงอุปถัมภ์ให้ดำรงอยู่เท่านั้น.

ถ้าเช่นนั้น โยนิโสมนสิการ คืออะไร จึงยกว่าเป็นเหตุสำคัญของกุศล จะยกไว้ไปกล่าวในคราวหน้า

ขออนุโมทนา
สมภพ สงวนพานิช



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น