วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๕๘ : สถานที่กามจะท่องเที่ยวไปมี ๑๑ แห่ง

#๕๘อภิธัมมาวตาราวตาร เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กามาวจรกุศลจิต : สถานที่กามจะท่องเที่ยวไปมี ๑๑ แห่ง

( เนื้อความช่วงนี้อยู่ใน #คัมภีร์อภิธัมมาวตาร๕ )

กามทั้งสองดังได้กล่าวมาแล้วนั้น ย่อมมีสถานที่ท่องเที่ยวไปเหมือนดังป่าเป็นที่โคจรแห่งราชสีห์เป็นต้นฉะนั้น.  ก็สถานที่ท่องเที่ยวไปแห่งกามนั้น บัณฑิตผู้ยินดีในพระอภิธรรมย่อมทราบดีว่า ท่านกล่าวไว้ว่ามีอยู่ ๑๑ แห่ง ดังนี้คือ

๑๔.
ยสฺมิํ ปน ปเทเส โส,      กาโมยํ ทุวิโธปิ จ;
สมฺปตฺตีนํ วเสนาว-        จรตีติ จ โส ปนฯ
๑๕.
ปเทโส จตุปายานํ,        ฉนฺนํ เทวานเมว จ;
มนุสฺสานํ วเสเนว,         เอกาทสวิโธ ปนฯ

          ๑๔-๑๕. ก็ #กามทั้งสองแม้อย่างนี้นั้น ย่อมท่องเที่ยวไป #ด้วยอำนาจแห่งความถึงพร้อม ในประเทศใด เพราะฉะนั้น ประเทศนั้นมี ๑๑ อย่าง คือ อบาย ๔ สวรรค์ ๖ และมนุษย์ ๑ นั่นเทียว.

          ก่อนอื่น กามทั้งสองนี้มีความสัมพันธ์กันโดยธรรมชาติของสภาวปรมัตถ์คือ ฝ่ายหนึ่งคือ วัตถุกามเป็นฝ่ายอารมณ์ และ อีกฝ่ายหนึ่ง คือ กิเลสกามเป็นฝ่ายรู้อารมณ์. ก็กามทั้งสองเมื่อจะเป็นไปก็ย่อมเป็นไปคู่กัน จะเว้นจากความสัมพันธ์กันในลักษณะนี้ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ ความเป็นไปของกามคู่นี้ จะเป็นไปในประเทศหรือที่เรียกในทางพระอภิธรรมว่า “ภูมิ”  ๑๑ ภูมิ ดังที่กล่าวมานั้น โดยการอยู่ร่วมกันและกัน, หรือการมาถึงภูมิ ๑๑ นั้นซึ่งกันและกันโดยความเป็นอารมณ์และธรรมที่รู้อารมณ์ ดังที่กล่าวว่า “ด้วยอำนาจความถึงพร้อมใน ๑๑ ประเทศ”.

          มีสิ่งที่เราควรสังเกตใส่ใจในเรื่องนี้โดยนัยนี้อีก 

          ก็การเป็นไปร่วมกันใน ๑๑ ภูมิโดยอาการดังกล่าวนั้น ทำให้ ๑๑ ภูมินั้น มีชื่อเรียกโดยเฉพาะว่า “กามาวจร” แปลว่า ภูมิเป็นที่ท่องเที่ยวไปแห่งกาม ๒ อย่าง ดังท่านจะกล่าวถึงในลำดับถัดไป.

          กามาวจรภูมิ ๑๑ ดังกล่าวประกอบไปด้วย อบาย ๔ ภูมิ, สวรรค์ ๖ ภูมิ และ มนุษย์ ๑ ภูมิ. ใน ๔ ภูมินี้ จะกล่าวเพียงสังเขปพอให้เห็นว่า คำเรียกชื่อภูมิว่า อบาย เป็นต้นมีความหมายอย่างไร?.

          อบาย คือ ภูมิเป็นที่อยู่ของสัตว์ส่วนมาก ที่เป็นผู้ปราศจากบุญที่เป็นเหตุของสวรรค์และนิพพาน. คำนี้ มาจาก อป (แผลงมาใช้ในภาษาไทยว่า อบ ) แปลว่า ปราศจากหรือไม่มี และคำว่า อย (แผลงมาใช้ในภาษาไทยว่า อาย) แปลว่า บุญ. อบาย ได้แก่ นรก เปรต อสูรกาย และ ดิรัจฉาน.

          เทวดา คือ ภูมิเป็นที่อยู่ของพวกเทวดา ผู้เพลิดเพลินอยู่ด้วยกามคุณท้ังหลายอันเป็นของทิพย์ คำว่า เทวตา มาจาก เทว แปลว่า ผู้เพลิดเพลินอยู่ด้วยของเล่นคือกามคุณ + ตา (แผลงเป็น ดา ในภาษาไทย) ไม่มีความหมายอื่น. เทวดา มี ๖ คือ จาตุมหาราชิกา, ดาวดึงษ์, ยามา, ดุสิต, นิมมานรดี, ปรินิมมิตวัสสสวัสดี.

          มนุษย์ คือ ภูมิเป็นที่อยู่ของพวกมนุษย์ ผู้มีใจสูง คือมาก หรือผู้สะสมคุณคือสติ ความกล้างหาญ ควรแก่การประพฤติพรหมจรรย์เป็นต้น. คำว่า มนุษย์ มาจาก มน แปลว่า ใจ และ อุสสะ (แผลงเป็น อุษย์ ในภาษาไทย) แปลว่า สูง. มนุษย์แบ่งเป็น ๔ คือ มนุษย์ที่อยู่ในชมพูทวีป คือ ชาวโลกใบนี้ และทวีปอื่นจากนี้อีก ๓ คือ อุตตรกุรุ ปุพพวิเทหะและอปรโคยานะ. ถึงจะเป็น ๔ ก็จริง แต่ในที่นี้หมายเอาชมพูทวีปโดยตรงเท่านั้น และรวมเอามนุษย์ในทวีปอื่นอีก ๓ ด้วย เพราะมีรูปร่างเป็นต้นเหมือนกัน ด้วยเหตุนี้ จึงนับมนุษย์โดยรวมกันเป็น ๑

          ภูมิเป็นที่อยู่ ๑๑ แห่งของสัตว์เหล่านี้มีอบายสัตว์เป็นต้น แม้บางพวกจะไม่มีที่อยู่โดยเฉพาะ เช่น พวกเปรตและดิรัจฉาน แต่ก็เพราะมันอาศัยอยู่ตามป่า ภูเขา มหาสมุทรเป็นต้น ในภพเหล่าใด ในภพเหล่านั้น ก็ถือเป็นภพภูมิของพวกมันด้วย ดังนั้น จึงจัดเป็น ๑๑ แห่งด้วยประการดังกล่าวมานี้.

          ขออนุโมทนา

          สมภพ สงวนพานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น