วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๑๒ กุสล มีความหมายว่า เฉกะ ความฉลาด

#๑๒อภิธัมมาวตาราวตาร : เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กุศลชาติ : คำว่า กุสล มีความหมายว่า เฉกะ ความฉลาด

ท่านทั้งหลาย คงสงสัยว่า กุสล หรือ กุศล (ในภาษาไทย)  ได้แก่ ความฉลาด นั้นเป็นอย่างไร เพราะในภาษาไทย คำว่า กุศล ก็คือ บุญ เช่น บำเพ็ญกุศล, ได้บุญ ได้กุศล เป็นต้น.

คำว่า กุสล  (กุศล) เมื่อกล่าวโดยสามัญ คือ บุญ เพราะเป็นสภาพที่ไม่มีโทษ ทำหน้าที่ตัดกิเลส และมีผลเป็นความสุข ดังเราท่านทราบกันดีอยู่. แต่อันที่จริง คำว่า กุสล ในภาษาบาฬีมีใช้กันอย่างกว้างขวางมากกว่าความหมายดังกล่าวมา.

ท่านผู้นิยมชมชอบในการศึกษาคัมภีร์พระไตรปิฎก ย่อมเคยพบเห็นคำว่า กุสล ที่แปลว่า ฉลาด, ช่ำชอง, ชำนาญ ก็มี ยกตัวอย่างเช่น

กุสโล ตฺวํ รถสฺส องฺคปจฺจงฺคานํ
พระองค์เป็นผู้ฉลาด ช่ำชอง ในส่วนประกอบของรถ หรือ

ข้อความนี้มาในคัมภีร์บาฬีมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ อภัยราชกุมารสูตร (๑๓/๘๕)

กุสลา นจฺจคีตสฺส สิกฺขิตา จาตุริตฺถิโย
สตรี ๔ นาง ชำนาญในการขับร้องและฟ้อนรำ ได้รับการฝึกดีแล้วในหน้าที่ของหญิง

ข้อความนี้มาในคัมภีร์บาฬีขุททกนิกาย ชาดก เตมียชาดก (๒๘/๔๓๖)

ดังนั้น คำว่า กุสล (กุศล) ในบริบทเหล่านี้ มีความหมายว่า ฉลาด ช่ำชอง หรือ ชำนาญ ก็ยังไม่ใช่กุศลที่ใช้ในความหมายเกี่ยวกับสภาวธรรม อันเป็นจุดประสงค์ของการใช้ศัพท์นี้. จึงควรยกเว้นไป.

บัณฑิตผู้หนักแน่นต่อหลักฐาน โปรดตรวจทานในอาคตสถานดังได้อ้างอิงไว้นั้นเถิด.

วันนี้สมควรแก่เวลา ขออนุโมทนาในกุศลจิตของท่านทั้งหลาย ที่ได้ใช้เวลาแม้เพียงเล็กน้อยมาศึกษาพระอภิธรรม แต่ได้ประโยชน์มากมายอันจะอำนวยผลเป็นความสุขในสัมปรายิกะสืบไป

สมภพ สงวนพานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น