วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๔ : คำจำกัดความของกุศลแบบที่ ๒.

อภิธัมมาวตาราวตาร#๔ : เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กุศลชาติ : วจนัตถะ คือ คำจำกัดความของกุศลแบบที่ ๒. 
กุศล เพื่อตัด “กุสะ” อันเป็นบาปธรรม 


ท่านทั้งหลายผู้ปรีชา คงสังเกตเห็นว่า คำว่า กุศล ที่ถูกกล่าวถึงมาหลายครั้ง จะมีส่วนประกอบของอักษรภาษาบาฬี อยู่ ๓ ตัว คือ กุ + ส + ล.  อันที่จริง ตัวอักษรภาษาบาฬีที่ใช้สื่อถึงพระธรรมในทางพระพุทธศาสนา สามารถบ่งถึงสภาวะธรรมชาติได้ทุกตัว ดังนั้น อักษร ๓ ตัวนี้จึงสื่อถึงความหมายตามความเป็นจริง ดังนี้

กุ คือ ลักษณะอาการที่น่ารังเกียจ
ส คือ การนอนแฝงตัว หมายถึง การเป็นไปอยู่ในจิตตราบเท่าที่จิตยังดำเนินไปสืบต่อกัน
ล คือ การตัด ที่นิยมเรียกด้วยศัพท์ธรรมะว่า ปหาน หรือ ละ.

เมื่อนำอักษรเหล่านี้มาประกอบกันเป็น “กุสล” ก็จะมีความหมายว่า ธรรมที่ตัด คือ ละบาปธรรมที่นอนแฝงตัวอยู่ โดยลักษณะที่น่ารังเกียจ

ก่อนอื่น กุ + ส = กุส คือ บาปธรรมที่นอนแฝงตัวอยู่ โดยลักษณะที่น่ารังเกียจ
หมายความว่า บาปธรรม ได้ชื่อว่า กุสะ เพราะมันนอนแฝงตัว ก็คือ เป็นไปอยู่ในจิตที่ดำเนินไปกันอยู่อย่างสืบเนื่อง ซึ่งบาปธรรมเหล่านี้มีสภาพที่ยังไม่ถูกกำจัดออกไปได้หมดสิ้น, ก็การนอนแฝงตัวแบบนี้แล นับว่าเป็นลักษณะที่วิญญูชนยังตำหนิ ยังเล็งเห็นว่าน่ารังเกียจ เหตุที่มันยังแปดเปื้อนอยู่กับสิ่งสกปรกคือกิเลสมีราคะเป็นต้น นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดทุกข์ต่างๆอีกหลายอย่าง.

อีกกรณีหนึ่ง

บาปธรรม คือ โทสะ โลภะ เป็นต้น ได้ชื่อว่า กุสะ เพราะทำให้ธรรมที่น่ารังเกียจ ซึ่งเป็นธรรมที่มีโทษ เช่น การฆ่าสัตว์เป็นต้น มีความแก่กล้า มีกำลังแรง มีอานุภาพ. ในเรื่องนี้ มีหลักการอันเป็นธรรมนิยมว่า การฆ่าสัตว์เป็นต้นนั้น จะมีโทษมากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับความแรงกล้าของความคิดที่ลงมือทำด้วยอำนาจของโทสะโลภะเป็นต้น.

ต่อมา นำคำว่า กุส = บาปธรรมน่ารังเกียจ มารวมกับคำว่า  ล ตัด = กุสล ธรรมที่ตัดบาปธรรมน่ารังเกียจ.
บาปธรรมที่เรียกว่า “กุสะ” ทั้งสองกรณีดังกล่าวมานี้แหละ จะถูกกุศลนี้ตัด คือ ละ เสียได้ตามความเหมาะสมกุศลของผู้บำเพ็ญในรูปแบบต่างๆ มีการให้ทาน รักษาศีลเป็นต้น ฉะนั้น ธรรมฝ่ายละบาปธรรมอันได้ชื่อว่า “กุสะ” จึงได้ชื่อว่า กุสล ด้วยประการฉะนี้.

วันนี้ บรรยายมา พอสมควรแก่เวลา ขอท่านทั้งหลายจงหมั่นพากเพียรทำกุศลเพื่อตัดกุสธรรมไปไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม

ขออนุโมทนา
สมภพ สงวนพานิช.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น