วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๖๗ : แม้จิตก็ชื่อว่า กามาวจร ด้วยเหตุที่นับเนื่องในกาม (ต่อ)

#๖๗อภิธัมมาวตาราวตาร เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กามาวจรกุศลจิต : แม้จิตก็ชื่อว่า กามาวจร ด้วยเหตุที่นับเนื่องในกาม (ต่อ)

( เนื้อความช่วงนี้อยู่ใน #คัมภีร์อภิธัมมาวตาร๗ )

ตามที่กล่าวมาในคราวที่แล้วว่า กามาวจรจิต คือ จิตที่นับเนื่องอยู่ในกามภพ เพราะแม้เป็นไปในรูปภพและอรูปภพ ก็ยังชื่อว่า กามาวจรอยู่นั่นเอง.  ข้อนี้ควรยุตติด้วยอาคมยุตติ คือ มีหลักฐานอ้างอิงข้อความที่กล่าวมา และสภาวยุตติ คือ ความถูกต้องตามสภาวะคืออาการที่นับเนื่องอยู่ในกามภพ.

ก่อนอื่น มีหลักฐานในบาฬีธัมมสังคณี กามาวจรกุศล (๓๔/๘๒๘)

[๘๒๘] ธรรมเป็นกามาวจร เป็นไฉน?
ขันธ์ ธาตุ อายตนะ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งท่องเที่ยวอยู่นับเนื่องอยู่ ในภูมิระหว่างนี้ คือ เบื้องต่ำกำหนดอเวจีนรกเป็นที่สุด เบื้องสูงกำหนดเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตีเป็นที่สุด อันใด สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมเป็นกามาวจร.

ข้อความพระบาฬีเหล่านี้สนับสนุนความที่กุศลจิต ๘ ดวงนี้เป็นธรรมที่นับเนื่องอยู่ในกามภพ อันจับตั้งแต่อวีจิมหานรกไปจนถึงเทวโลกชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ด้วยเหตุนี้ กุศลจิตจึงชื่อว่า กามาวจรธรรม.

ส่วนข้อที่ว่า อาการที่นับเนื่องอยู่ในกามภพ ได้แก่ ความที่กามาวจรธรรมนี้เป็นอารมณ์ของกามตัณหาที่แผ่ไปในสถานที่อันกำหนดด้วยอวีจิมหานรกและเทวโลกชั้นปรนิมมิตวสวัตตีนั้น. สมดังที่พระอาจารย์ธัมมปาละได้อธิบายความข้อนี้ไว้คัมภีร์ธัมมสังคณีอนุฎีกา นิกเขปกัณฑ์ ว่า “คำว่า ท่องเที่ยวอยู่ในภูมิระหว่างนี้ หมายถึงความเป็นอารมณ์ของกามตัณหาที่ถูกกำหนดพื้นที่ไว้ด้วยอวีจิมหานรกและเทวโลกชั้นปรนิมมิตวสวัตตี”. 

นี้จัดเป็นสภาวะของกามาวจรจิตที่เป็นอารมณ์ของกามตัณหาได้ จึงเหมาะสมต่อความเป็นจิตที่นับเนื่องในกามวจรในด้านสภาวะได้.

อาศัยอาคมยุตติและสภาวยุตติ จึงเป็นอันสรุปข้อความนี้ได้ว่า

แม้กุศลจิต ๘ ดวงนี้ก็ชื่อว่า นับเนื่องในกามาวจร เพราะถูกกามตัณหาทำให้เป็นอารมณ์.

ขออนุโมทนา

สมภพ สงวนพานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น