วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๒๙ อกุศลชาติ : วจนัตถะ คือ ความหมายของคำว่า อกุศล

#๒๙อภิธัมมาวตาราวตาร : เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
อกุศลชาติ : วจนัตถะ คือ ความหมายของคำว่า อกุศล

อกุศลชาติ คือ ธรรมที่เป็นฝ่ายอกุศล มีลักขณาทิจตุกกะเป็นตรงกันข้ามกับกุศล แม้คำว่า อกุศล เอง ก็มีความหมายไปในทิศทางตรงข้าม โดยนับเป็นธรรมฝ่ายปฏิปักษ์กันอีกด้วย.

คำว่า อกุศล มาจาก อ + กุศล

อ คือ ปฏิปักษ์

กุศล คือ กุศลมีความหมายดังกล่าวมาแล้ว

อกุศล จึงหมายถึง ปฏิปักษ์ต่อกุศล ได้แก่ บาป.

สิ่งที่จะทำให้เข้าใจเรื่องอกุศลอย่างถูกต้องอยู่ตรงคำว่า อ ที่หมายถึง ปฏิปักษ์ ในคำว่า อกุศล.

อ ในที่อื่นๆ มีความหมายดังที่เราคุ้นเคยกัน คือ ไม่ใช่, เป็นอีกอย่างหนึ่ง เช่น อัพยากต ไม่ใช่ธรรมที่ถูกกล่าวว่าเป็นอกุศลและกุศล อทุกขมสุขเวทนา เวทนาที่เป็นอย่างอื่นจากทุกข์ เป็นอย่างอื่นจากสุข และ ไม่มี เช่น อนิจจัง ไม่มีความเที่ยง อนัตตา ไม่มีอัตตา ดังนี้เป็นต้น.

แต่ อ ในคำว่า อกุศล มีความหมายว่า เป็นปฏิปักษ์ คือ เป็นธรรมฝ่ายข้าศึกต่อกัน เป็นฝ่ายต้องหักล้างกัน ท่านเปรียบเหมือนกับว่า อมิตร คือ ผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อมิตร คือ เป็นศัตรูกัน เมื่อเผชิญหน้ากัน จะต้องเข้าห้ำหั่นทำลายกัน ฉะนั้น.

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าจะเอาความหมายของอกุศลว่า เป็นอื่นจากกุศล และ ถ้าจะเอาความหมายของอกุศลว่า ไม่มีกุศล.

ข้อนี้ไม่มีอะไรนอกไปกว่าการได้ความหมายที่ผิดจากความจริงของสภาวธรรมเท่านั้น. จะยกให้ดูทีละประเด็น
๑) ถ้าอกุศล คือ ธรรมที่เป็นอื่นจากกุศล.  อัพยากตะ ก็จะถูกรวมอยู่ในคำว่า อกุศล ด้วย เหตุที่อัพยากตะ ก็ไม่ใช่กุศล เนื่องจากมีสภาพที่ไม่เหมือนกุศล เป็นอีกอย่างหนึ่งจากกุศล เพราะไม่มีวิบาก ดังนั้น อัพยากตะ ก็จะไม่ต้องกล่าวไว้อีกหมวดหนึ่ง เพราะอยู่ในคำว่า อกุศล นั่นเอง.


เมื่อเป็นเช่นนี้ ในหมวดนี้จะมีธรรมเพียงสองประเภท คือ  กุสลา ธมฺมา, อกุสลา ธมฺมา กลายเป็นเพียงทุกะไป. ด้วยเหตุนี้ ติกะ คือ ธรรม ๓ ประเภทว่า กุสลา ธมฺมา, อกุสลา ธมฺมา,  อพฺยากตา ธมฺมา ก็มีไม่ได้.

แต่ในพระบาฬีธัมมสังคณี ติกมาติกา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า กุสลา ธมฺมา,  อกุสลา ธมฺมา,  อพฺยากตาธมฺมา มิได้ตรัสว่า กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา. 

ข้อนี้ถือว่าเป็นสภาวยุตติ และอาคมยุติ เหมาะสมทั้งสภาวะและหลักฐานที่มา.

ขออนุโมทนา

สมภพ สงวนพานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น