กุศลชาติ : คำว่า กุสล ที่มีความหมายว่า อนวัชชะ ไม่มีโทษ
ถึงคราวนี้ คำว่า กุสล ที่กล่าวไปสองความหมาย ก็ยังไม่ถูกนำมาใช้ในความหมายเกี่ยวกับสภาวธรรม ตามนัยของคัมภีร์อภิธัมมาวตาร แต่ความหมายใดเล่า ที่สมควรในที่นี้ฯ
จะไม่เยิ่นเย้อ ความหมายว่า อนวัชชนะ ไม่มีโทษ เป็นความหมายที่ประสงค์เอาในที่นี้.
ก่อนอื่น ควรทำความรู้จักกับคำนี้พอสังเขปว่า นอกจากความหมายในเชิงสภาวธรรมแล้ว ยังมีใช้ในความหมายทั่วไปที่เกี่ยวกับความไม่มีโทษ เช่น บทสนทนาระหว่างพระอานนทเถระกับพระเจ้าปัสเสนทิโกศล ที่ไต่ถามถึงความประพฤติของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ไม่มีโทษ ตามครรลองที่สมณพราหมณ์ผู้รู้แจ้งไม่ตำหนิติเตียนบ้างหรือไม่
ในที่นั้น ใช้คำว่า กุสล หมายถึง ความไม่มีโทษ ดังนี้ว่า
‘‘กตโม ปน, ภนฺเต, กายสมาจาโร กุสโล? โย โข, มหาราช, กายสมาจาโร อนวชฺโช’’ติ
ป. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็กายสมาจารที่เป็นกุศลเป็นไฉน?
อา. ดูกรมหาบพิตร กายสมาจารที่ไม่มีโทษแล เป็นกุศล ขอถวายพระพร.
(พระบาฬีมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พาติหิยสูตร ๑๘/๕๕๔)
ยังมีอีกแห่งหนึ่ง
อปรํ ปน, ภนฺเต, เอตทานุตฺตริยํ, ยถา ภควา ธมฺมํ เทเสติ กุสเลสุ ธมฺเมสู’’ติ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยังมีอีกข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อธรรมที่เยี่ยม คือพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมในฝ่ายกุศลธรรมทั้งหลาย (ซึ่งได้แก่กุศลธรรมเหล่านี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรค ประกอบด้วยองค์ ๘)
ข้อความนี้มาในพระบาฬีทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สัมปสาทนียสูตร (ที.ปา. ๑๑/๗๕๑๔๕) เป็นคำสรรเสริญพระผู้มีพระภาคของพระสารีบุตรเถระว่า ทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน ไม่มีสมณะหรือพราหมณ์อื่นที่จะมีความรู้ยิ่งไปกว่าพระผู้มีพระภาคในทางพระสัมโพธิญาณ ฯ
วันนี้แนะนำให้รู้จักคำว่า กุสล ที่เป็นไปในโวหารของชาวโลกที่นิยมใช้ในความไม่มีโทษ อีกอย่างที่นอกเหนือไปจากสภาวธรรมในทางพระอภิธรรม ก็พอสมควรแก่เวลา คราวหน้าจะได้เสนอในความหมายว่า วิบากน่าปรารถนา
ขออนุโมทนา.
สมภพ สงวนพานิช
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น