วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๕๒: กามาวจรกุศลจิตดวงที่ ๕ จนถึงที่ ๘: อุเบกขาเวทนา

#๕๒อภิธัมมาวตาราวตาร เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กามาวจรกุศลจิตดวงที่ ๕ จนถึงที่ ๘อุเบกขาเวทนา

บทความเรื่อง อภิธัมมาวตาราวตาร อันว่าด้วยการเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร ที่แสดงการหยั่งถึงพระอภิธรรมเพื่อถือเอาอรรถสาระแห่งพระอภิธรรม ได้ดำเนินมาจนถึง #กามาวจรกุศลจิตดวงที่ ๕ อันเป็น #จิตที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ไม่มีการกระตุ้นเตือน ประกอบด้วยญาณ

ท่านทั้งหลายผู้มีเมธาคงสังเกตเห็นว่า จิตดวงที่ ๕ นี้ไม่มีอะไรต่างกันจากดวงที่ ๑ นอกจากการเป็นไปหรือเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนาเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ในที่นี้ควรรู้เกี่ยวกับอุเบกขาเวทนาเท่านั้น

ในคำว่า อุเบกขาเวทนา อุเบกขา มีความหมาย ๓ ประการที่ผู้ศึกษาควรทำความเข้าใจ คือ ได้แก่

๑. เวทนาที่แม้เมื่อเสวยอารมณ์ ก็ย่อมเสวยโดยการตั้งอยู่อย่างสภาพที่เป็นกลาง.
กรณีนี้ คำว่า อุเบกขา หรือ อุเปกขา ผสมคำระหว่าง อุป (อุบ) คือ ดำรงอยู่ในสภาพเป็นกลาง อิกขา ที่กลายเป็น เอกขา แปลว่า มองดู, อุเปกขา หรือ อุเบกขา โดยนัยนี้ นิยมแปลว่า วางเฉย

๒. เวทนาที่เสวยอารมณ์อันเหมาะสม โดยไม่ตกไปในอารมณ์ที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา. ในกรณีนี้ เป็นเพราะอุเบกขาเวทนาเป็นเวทนาที่มีอิฏฐมัชฌัตตะเป็นอารมณ์ จึงถือเป็นอารมณ์อันเหมาะสม.

กรณีนี้ อุเบกขา ผสมคำระหว่าง อุป (อุบ) คือ เหมาะสม และ เอกข คือ เสวย ได้แก่ รู้สึกต่ออารมณ์ ภาษาพระอภิธรรมเรียกว่า เสวย คือ รู้สึกเหมือนกับการรู้รสของอาหาร แต่เวทนาเป็นการรู้สภาวะที่น่ายินดี ไม่น่ายินดี และไม่ตกไปในฝ่ายน่ายินดีหรือไม่น่ายินดี ของอารมณ์นั้นดังนั้น จึงแปลว่า เสวยอารมณ์อย่างเหมาะสม

๓. การเสวยอารมณ์อย่างเป็นไปในที่ใกล้ๆ คือ ไม่ขัดแย้งต่อสุขและทุกขเวทนา (หรือได้แก่ การเสวยอารมณ์ อย่างเป็นไปร่วม (เข้ากันได้) กับสุขและทุกขเวทนา)

ในกรณีนี้ อุเบกขา ผสมคำระหว่าง อุป (อุบ) คือ เป็นไปใกล้ๆ หรือ เป็นไปร่วมกัน คือเข้ากัน, เอกข คือ เสวย โดยนัยก่อน ดังนั้น จึงแปลว่า เสวยอารมณ์อย่างเป็นไปใกล้ๆกัน หรือ เข้ากันได้กับสุขและทุกข์. คัมภีร์ฎีกาแสดงว่า เป็นการเกิดขึ้นในลำดับติดต่อกัน และให้เหตุผลว่า เวทนา ๓ คือ สุข ทุกข์ และ อุเบกขา เป็นไปต่างก้น คือ อุเบกขาเป็นไปในลำดับติดต่อจากสุขและทุกข์ เพราะไม่ขัดแย้งกับสุขและทุกข์. และให้สังเกตว่า สุข และ ทุกข์ ไม่เป็นไปในลำดับติดต่อกัน เพราะมีความขัดแย้งเป็นคนละอย่างต่างกัน.  ท่านสาธกคัมภีร์ปัฏฐานว่า ได้ปฏิเสธการเกิดของโทมนัสในลำดับแห่งโสมนัส และ การเกิดโสมนัสในลำดับแห่งอุเบกขา.

ท่านผู้ประสงค์ความกระจ่างในเรื่องนี้ขอให้ไปตรวจค้นดูในคัมภีร์ปัฏฐานเถิด จะทำให้เข้าใจความข้อนี้อย่างแจ่มแจ้ง.

ทั้งสามแนวทางนี้เป็นคำจำกัดความของอุเบกขาเวทนา ในแง่มุมต่างๆ

ดังนั้น กามาวจรกศลจิตดวงที่ ๕ นี้มีอุเบกขาเวทนาเป็นเครื่องทำให้แปลกไปจากดวงที่ ๑  โดยประการใด แม้กามาวจรกุศลจิตดวงที่ ๖, ๗ และที่ ๘ ก็มีอุเบกขาเวทนาเป็นเครื่องทำให้แปลกไปจากดวงที่ ๒, ๓, และ ๔ โดยประการนั้นเหมือนกัน.

กามาวจรกุศลจิต ๔ ดวงกลุ่มแรก และ ๔ ดวงกลุ่มที่ ๒ จึงแยกแยะเป็นรายละเอียดดังที่ข้าพเจ้านำมาแสดงไว้ใน #คัมภีร์อภิธัมมาวตาร๔ ซึ่งนำเนื้อความจากคัมภีร์นั้นที่ได้แสดงไว้ดั

๑.     #จิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา #ไม่มีการกระตุ้นเตือน #ประกอบด้วยญาณ ดวงหนึ่ง
๒.    จิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา #มีการกระตุ้นเตือน ประกอบด้วยญาณ ดวงหนึ่ง
๓.    จิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ไม่มีการกระตุ้นเตือน #ไม่ประกอบด้วยญาณ ดวงหนึ่ง
๔.    จิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา มีการกระตุ้นเตือน ไม่ประกอบด้วยญาณ ดวงหนึ่ง
๕.    #จิตที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ไม่มีการกระตุ้นเตือน ประกอบด้วยญาณ ดวงหนึ่ง
๖.     จิตที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา มีการกระตุ้นเตือน ประกอบด้วยญาณ ดวงหนึ่ง
๗.    จิตที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ไม่มีการกระตุ้นเตือน ไม่ประกอบด้วยญาณ ดวงหนึ่ง
๘.    จิตที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา มีการกระตุ้นเตือน ไม่ประกอบด้วยญาณ ดวงหนึ่ง
จิตทั้ง ๘ ดวงนี้ ก็ชื่อว่า กามาวจรกุศลจิต.

เป็นอันจบกามาวจรกุศลจิตที่อาศัยเวทนา ญาณ และความพยายามอันได้ชื่อว่า สังขาร เป็นเครื่องทำความต่างกัน มาจำแนกเป็น ๘ ดวงด้วยประการฉะนี้

บทความเรื่อง อภิธัมมาวตาราวตาร ข้าพเจ้าได้นำคำอธิบายเนื้อความจากคัมภีร์ฎีกาอภิธัมมาวตาร ที่ชื่อ อภิธัมมัตถวิกาสินี มาเสนอแก่สาธุชน ผู้หวังความรื่นรมย์ในพระอภิธรรม ตามแนวทางแห่งคัมภีร์อภิธัมมาวตาร ยังไม่จบ มีตอนต่อไปเนืองๆ ขอท่านทั้งหลายติดตามไปจนครบทุกตอนเถิด.

ขออนุโมทนา

สมภพ สงวนพานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น