#๓๗อภิธัมมาวตาราวตาร :
เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
การจำแนกจิตโดยภูมิ
: กามาวจรกุศลจิต
จิตโดยชาติทั้งสามนั้น
คัมภีร์อภิธัมมาวตารนำจิตพวกกุศลชาติมาแสดงก่อน โดยจำแนกกุศลจิตเหล่านั้นโดยภูมิทั้ง
๔ มีกามาวจรเป็นต้นซึ่งมีรายละเอียดใน #คัมภีร์อภิธัมมาวตาร๔
บาฬีและแปล ดังต่อไปนี้
ตตฺถ กุสลจิตฺตํ เอกวีสติวิธํ โหติ,
ตยิทํ ภูมิโต จตุพฺพิธํ โหติ, กามาวจรํ, รูปาวจรํ, อรูปาวจรํ, โลกุตฺตรญฺเจติ.
ในจิต ๓ อย่างนั้น กุศลจิตมี ๒๑
อย่าง, กุศลจิตนี้นั้นมี ๔ อย่างโดยภูมิ คือ กามาวจรกุศลจิต รูปาวจรกุศลจิต
อรูปาวจรกุศลจิต และโลกุตตรกุศลจิต.
จิตที่นับว่าเป็นกุศลจิต
เมื่อประมวลแล้วจะได้ ๒๑ ดวง แต่เมื่อแบ่งโดยประเภทแห่งภูมิ จะได้ ๔ ภูมิ
ตามสมควรดังนี้คือ
กามาวจรกุศลจิต คือ
กุศลจิตที่เกิดอยู่ในกามาวจรภูมิโดยส่วนมาก มี ๘ ดวง
รูปาวจรกุศลจิต คือ
กุศลจิตที่เกิดอยู่ในรูปาวจรภูมิโดยส่วนมากมี ๕ ดวง
อรูปาวจรกุศลจิต คือ
กุศลจิตที่เกิดอยู่ในอรูปาวจรภูมิโดยส่วนมาก มี ๔ ดวง
โลกุตรกุศลจิต คือ
กุศลจิตทึ่เป็นโลกุตตระ คือ ข้ามพ้นจากโลกทั้งสามมีกามโลกเป็นต้นมี ๔ ดวง
ดังนั้น
เมื่อว่าโดยสังเขปกุศลจิตจึงมี ๒๑ ดวงดังนี้ ส่วนการนับจำนวนโดยพิสดารจะมีเป็นลำดับไป.
ใคร่จะชี้แจงแนวทางการนำเสนอเนื้อความพระอภิธรรมอันโครงสร้างของคัมภีร์นี้สักเล็กน้อย
พระอภิธัมมาวตารจะแสดงการจำแนกปรมัตถธรรม
๔ มีจิตเป็นต้น โดยจำแนกออกเป็นกลุ่มใหญ่ก่อน เช่น แสดงประเภทจิตมี ๑ ประเภท ๒
ประเภท ๓ ประเภทเป็นต้นเป็นลำดับไป เช่น จิตมีอย่างเดียวโดยความเป็นสภาวะรู้อารมณ์
มี ๒ โดยจิตมีวิบากและไม่มีวิบาก มี ๓ ประเภทโดยกุศลชาติ อกุศลชาติและอัพยากตชาติ
อย่างนี้เป็นต้น.
เมื่อได้วางประเภทจิตจนครบแล้ว
ต่อมาจึงอธิบายรายละเอียดทั้งโดยสภาวะและจำนวนแห่งธรรมนั้น
ตามนัยของพระบาฬีและอรรถกถา เมื่อเป็นเช่นนี้รายละเอียดจึงมีครบถ้วนทั้งสำนวนโวหารที่มาในพระบาฬีและอรรถกถาทำให้ผู้อ่านได้อรรถรสทางวรรณกรรมนอกจากจะได้ความรู้สภาวปรมัตถ์อีกด้วย
ต่างจากปกรณ์อภิธัมมัตถสังคหะที่นำเข้าสู่ปรมัตถธรรม ๔
อย่างรวบรัดตามความประสงค์ของผู้รจนาที่ต้องการให้เป็นปกรณ์ฉบับย่อความพระอภิธรรม.
ท่านทั้งหลายเมื่อได้ศึกษาพระอภิธัมมัตถสังคหะมาบ้างแล้ว ก็จะมีพื้นฐานมากพอที่จะเก็บเกี่ยวอรรถสาระแห่งพระอภิธรรมเพิ่มขึ้นจากคัมภีร์นี้
เพื่อสะสมความรู้อันจะเป็นอุปกรณ์การหยั่งลงสู่พระอภิธรรม ตามชื่อของคัมภีร์นี้.
ขออนุโมทนา
สมภพ สงวนพานิช
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น