วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๓๐ อกุศลชาติ : วจนัตถะ คือ ความหมายของคำว่า อกุศล (ต่อ)

#๓๐อภิธัมมาวตาราวตาร : เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
อกุศลชาติ : วจนัตถะ คือ ความหมายของคำว่า อกุศล (ต่อ)

เมื่อคราวที่แล้วมาได้กล่าวถึงอกุศลธรรมคือธรรมฝ่ายปฏิปักษ์ต่อกุศล ไม่ใช่ธรรมอย่างอื่นจากกุศล อีกทั้งไม่ใช่ธรรมที่ไม่มีกุศล และได้ยกประเด็นว่า หากจะเอาอกุศล คือ ธรรมอยางอื่นจากกุศล ก็จะเหลือเพียงสองชาติของสภาวธรรมคือ กุสลชาติและอกุศลชาติ.

คราวนี้ จะได้ชี้แจงในกรณีที่ว่า อกุศล มิได้มีความหมายว่า ธรรมที่ไม่มีกุศล

๒) ถ้าอกุศล คือ ธรรมที่ไม่มีกุศล คราวนี้ก็จะกลายเป็นทุกะ คือ มีแค่สองชาติเหมือนกันคือ กุสลชาติและอัพยากตชาติ เพราะไม่มีชาติอย่างใดอย่างหนึ่งให้ถือเอาโดยความเป็นอกุศลชาติ. 

เอาละ ถ้าจะกล่าวเพียงสองชาติก็ได้ จะมีอะไรขัดข้องไหม, 
ตอบว่า มี เพราะจะต้องนำแม้ความไม่มีนั่นแหละมาแสดงโดยชาติอีก,  เมื่อความไม่มีนั้นมีอยู่ คำว่า ความไม่มีกุศล ก็จะมาผสมกับคำว่า ชาติ ไม่ได้ เพราะไม่นับความไม่มีนั้นเป็นชาติ เพราะขึ้นชื่อว่า ชาติ ก็จะต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งที่มีอยู่ 
(คำว่า อกุศลชาติ ต้องแปลว่า ชาติแห่งความไม่มีกุศล ดังนั้น จึงเอาคำว่า อกุศลมาผนวกกับคำว่า ชาติ ไม่ได้ เพราะความไม่มีแห่งกุศลนั้น ไม่นับว่าเป็นชาติ).

นอกจากนี้ หากอกุศล คือ ความไม่มีกุศล,  ความไม่มีกุศล มีได้ ฉันใด แม้ความไม่มีอัพยากตะ ก็มีได้ เหมือนฉันนั้น. 

เพราะฉะนั้น ต้องกล่าวความไม่มีอัพยาตะ เป็นอีกหมวดหนึ่งรวมเป็น ๔ หมวด ดังนี้  “กุสลา ธมฺมา ธรรมที่เป็นกุศล , อกุสลา ธมฺมา ธรรมที่ไม่มีกุศล, อพฺยากตา ธมฺมา ธรรมที่เป็นอัพยากตะ, อนพฺพยากตา ธมฺมา ธรรมที่ไม่มีอัพยากตะ”. 

เรื่องนี้ ไม่เป็นที่ประสงค์ของระบบธรรมในพระพุทธศาสนา เพราะวางธรรมไว้ ๓ แค่นั้นดังกล่าวมา.

ขออนุโมทนา
สมภพ สงวนพานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น