วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๕ : คำจำกัดความของกุศลแบบที่ ๓.

อภิธัมมาวตาราวตาร#๕ : เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กุศลชาติ : วจนัตถะ คือ คำจำกัดความของกุศลแบบที่ ๓. 
กุศล คือ ธรรมที่มีปัญญาช่วยให้เป็นไป 


เมื่อคราวที่แล้วมา ได้กล่าวถึงคำจำกัดความของกุศลแบบที่ ๒ เกี่ยวกับเป็นธรรมที่กำจัดอกุศลที่ชื่อว่า กุสะ ไปแล้ว บัดนี้ ก็จะกล่าวถึง กุศล ในแง่มุมที่ ๓ เกี่ยวกับเป็นธรรมที่ถูกปัญญาญาณให้เป็นไป

ท่านผู้ใฝ่ธรรมทั้งหลาย หากพิจารณาถึงตัวอักษรว่า กุสล ก็จะเห็นว่า ประกอบขึ้นด้วย ๓ พยางค์ ดังที่เคยกล่าวมาแล้ว กล่าวคือ กุ, ส และ ล รวมเป็น กุสล โดยที่ในแบบที่ ๒ หมายถึง ธรรมฝ่ายกำจัดอกุศลที่ชื่อว่า “กุสะ” แต่ในแบบที่ ๓ จะมีความหมายกลับกัน ดังนี้

กุ = ธรรมน่ารังเกียจ
ส = ทำให้เบาบาง ให้หมดลง
ล = ถูกทำให้เป็นไป

สามพยางค์นี้เมื่อรวมกันเป็น กุสล ก็จะมีความหมายว่า ธรรมที่ถูกปัญญาที่ชื่อว่า กุสะทำให้เป็นไป.
ลำดับแรก นำคำว่า กุ และ ส มารวมกันเป็น กุส ได้ความหมายว่า ธรรมที่ทำให้ธรรมน่ารังเกียจเบาบาง ให้หมดลง.  ก็คำว่า กุสะ นี่แหละ เป็นชื่อของปัญญาญาณ ในแง่มุมที่หมายถึง ทำให้บาปธรรมถึงความเบาบางจนหมดสิ้นไปได้.

ต่อมา นำคำว่า กุส มารวมก้บคำว่า ล เป็น กุสล ได้ความหมายว่า ธรรมที่ถูกปัญญาญาณ ที่ขนานนามว่า “กุสะ ให้ดำเนินไปในจิตที่เป็นไปสืบต่อกัน.

ในเรื่องนี้ ควรทำความเข้าใจในธรรมชาติของสภาวธรรมต่างๆ สักเล็กน้อย
ธรรมดาว่า ปัญญากับกุศลนั้น มีความเป็นไปที่เกี่ยวเนื่องกัน โดยธรรมฝ่ายที่เป็นกุศลทั้งหลายดำเนินไปได้โดยมีปัญญาช่วยอุปการะประคับประคองใน ๒ ลักษณะ คือ

๑) เมื่อกุศลเกิดขึ้น ปัญญาก็เกิดขึ้น การที่ปัญญาช่วยให้กุศลเกิดขึ้นโดยเป็นไปในขณะเดียวกันแบบนี้ มีคำศัพท์ทางธรรมะว่า สหชาตะ แปลว่า การอุปการะโดยการเกิดขึ้นร่วมกัน

๒) ถ้ากุศลเกิดขึ้น แต่ไม่มีปัญญาเกิดขึ้นในขณะนั้น กุศลแม้เพียงอย่างเดียวนี้ ได้รับอิทธิพลจากกุศลที่เกิดร่วมกับปัญญาในอดีตช่วยอุดหนุน ช่วยส่งเสริม ให้เกิดขึ้นได้อีก เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ยังนับว่ามีปัญญาช่วยทำให้เกิดขึ้น. การที่ปัญญาช่วยส่งเสริมการเกิดขึ้นของกุศลในลักษณะนี้ มีคำศัพท์ทางธรรมะว่า อุปนิสสยะ แปลว่า การอุปการะโดยการเกิดสืบทอดมา.

ปัญญา ทำให้กุศลทั้งสองประเภทเกิดขึ้นในจิตใจของชาวเรา ได้ดังนี้

กุศลใดเกิดพร้อมกับปัญญา,  กุศลนั้น มีคำศัพท์ทางธรรมะว่า ติเหตุกกุศล บ้าง ญาณสัมปยุต บ้าง.  ปัญญาก็ช่วยให้ติเหตุกกุศลเป็นไปโดยสหชาตะ และ อุปนิสสยะ,

กุศลใดไม่เกิดพร้อมกับปัญญาในขณะนั้น,  กุศลนั้น มีคำศัพท์ทางธรรมะว่า ทุเหตุกกุศล บ้าง ญาณวิปยุต บ้าง.  ปัญญาก็ช่วยให้ทุเหตุกกุศลเป็นไปโดยอุปนิสสยะ อย่างเดียว.

ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ ในคัมภีร์อรรถกถาแห่งธัมมสังคณีปกรณ์ อันมีนามว่า “อัฏฐสาลินี” จึงได้แสดงความหมายทั่วไปของกุศลทั้งหมดไว้โดยนัยว่า มีสภาวะที่เกิดจากความฉลาด มีสภาวะที่ไม่มีโรค และมีสภาวะไม่มีโทษ. (โดยนัย อัฏฐสาลินี อรรถกถากามาวจรกุสลปทภาชนียวัณณนา อภิ.อ.๑).

ยังมีอีกความหมายหนึ่งของคำว่า กุสล ที่เกี่ยวกับถูกปัญญาให้ดำเนินไป ที่ควรทำความเข้าใจ วันนี้เวลาหมดลงแล้ว พบกันใหม่ในคราวต่อไป. ขอปัญญาที่ชื่อว่า กุสะ จงทำให้จิตของท่านทั้งหลายเป็นกุศลตลอดกาลเป็นนิตย์

ขออนุโมทนา
สมภพ สงวนพานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น