วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๗ : คำจำกัดความของคำว่า กุศล แบบที่ ๔.

#อภิธัมมาวตาราวตาร๗ : เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กุศลชาติ : วจนัตถะ คือ คำจำกัดความของคำว่า กุศล แบบที่ ๔. 

กุสล คือ ธรรมที่ห้ำหั่นกิเลสเหมือนกับหญ้าคา

เมื่อคราวที่แล้ว ได้แนะนำให้ผู้สนใจในพระอภิธรรม ได้รู้จักคำว่า กุสล ในแง่มุมต่างๆ ตามที่คัมภีร์อภิธัมมาวตาร ได้ยกมาจากคัมภีร์อรรถกถาส่วนหนึ่งมาเป็นตัวอย่าง. บัดนี้ จะนำความหมายของคำว่า กุสล ตามที่คัมภีร์ฎีกาอภิธัมมาวตาร นำมาจากอรรถกถาเช่นกัน เพื่อมาเติมเต็มเนื้อความในอภิธัมมาวตารให้สมบูรณ์ โดยหวังความแจ่มแจ้งในอรรถของคำว่า กุสล

คำอธิบายต่อไปนี้ ท่านนำวัตถุสิ่งของใกล้ๆตัวที่จะสื่อเรื่องราวให้เห็นได้ง่ายๆ เพราะบางคน ถ้ายกเนื้อความล้วนๆ ก็ยากที่จะเข้าใจ แต่ถ้ามีอุปมาอุปไมย ก็ทำให้เข้าใจได้ง่าย ดังสำนวนนิยมในพระไตรปิฎกที่พบเห็นกันบ่อยๆว่า “บุรุษผู้เป็นวิญญูชนในโลกนี้บางพวก ย่อมทราบเนื้อความของคำพูดด้วยอุปมา”
กุสะ ที่ได้กล่าวถึงมาหลายครั้งหลายครา ก็คือ ญาณ บ้าง อกุศลธรรม บ้าง แต่ในทีนี้ จะเปรียบว่า กุสล ก็คือ ธรรมที่ตัดกิเลสหรือบาดกิเลส เหมือนอย่าง หญ้าคา.  หญ้าคา ตรงกับคำว่า กุส ในภาษาบาฬี เพราะฉะนั้น เมื่อนำคำว่า กุส หญ้าคา และ คำว่า ล ตัด มารวมกัน จึงมีความหมายว่า ธรรมที่ตัดกิเลสได้ เหมือนอย่างหญ้าคา.

หญ้าคากับกุสล มันเหมือนกันที่ตรงไหนกัน?

ท่านทั้งหลายคงเคยเห็นหญ้าคา และทราบกิติศัพท์ความคมของใบหญ้าคาว่า สามารถบาดมือที่รูดใบหญ้าคาทั้งสองด้าน คือ ทั้งด้านซ้าย ด้านขวา ของใบหญ้า,

แม้ธรรมเหล่านี้ก็เหมือนกัน มีอานุภาพที่จะห้ำหั่นอกุศลฝ่ายกิเลส ที่ดำเนินไปในสองส่วน คือ ทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและที่ยังไม่เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้แหละ ธรรมที่เป็นกุศล  เพราะ ห้ำหั่นกิเลสทั้งสองส่วนเหมือนหญ้าคาที่บาดมือที่จับหญ้าคาทั้งสองด้าน ฉะนั้น.

ในเรื่องนี้ มีสัมมัปปธาน คือ ความเพียรที่ถูกทางเป็นสาธก กล่าวคือ สัมมัปธานมีองค์ ๔ โดยแบ่งออกเป็นสองส่วน ดังนี้ คือ ทำหน้าที่กำจัดกิเลส ที่เกิดขึ้นแล้ว และ ป้องกันกิเลสที่ยังไม่เกิดขึ้นได้เกิดขึ้น, ทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น และทำที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญงอกงาม

สำหรับท่านที่ใส่ใจในภาษาบาฬี ลองพิจารณาข้อความอันเป็นส่วนบาฬีดู

กุโส วิย ลุนาตีติ กุสลํ
กุศล หมายถึง สภาวะทำลายอกุศลเหมือนหญ้าคา

ขออนุโมทนา :
สมภพ สงวนพานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น