#๖๘อภิธัมมาวตาราวตาร : เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กามาวจรกุศลจิต : ความเป็นไปของกามาวจรกุศลจิต ๘ ดวงโดยบุญกิริยวัตถุ ๑๐
( เนื้อความช่วงนี้อยู่ใน #คัมภีร์อภิธัมมาวตาร๘ )
จิต ๘ ดวง ได้ชื่อว่า กามาวจร ด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ เที่ยวไปในกามตลอดกาลโดยส่วนมาก ๑, ทำปฏิสนธิให้เที่ยวไปในกาม ๑, นับเนื่องในกามาวจร ๑ และ ชื่อว่า กุศล เพราะกำจัดบาป เป็นต้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า กามาวจรกุศลจิต เพราะเป็นกามาวจร ด้วย กามาวจรนั้น เป็น กุศลด้วย จึงชื่อว่า กามาวจรกุศล.
ก็กามาวจรกุศลจิต ๘ ดวงเหล่านั้น มีความเป็นไปอย่างไรบ้าง
๒๐. อิทํ อฏฺฐวิธํ จิตฺตํ, กามาวจรสญฺญิตํ;
ทสปุญฺญกฺริยวตฺถุ- วเสเนว ปวตฺตติฯ
๒๐. จิตที่ได้ชื่อว่า กามาวจร ๘ อย่างนี้ ย่อมเป็นไปด้วยสามารถแห่งบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ นั่นเทียว.
บุญกิริยาประเภทใดประเภทหนึ่ง ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ ย่อมเป็นเหตุให้จิต ๘ ดวงนี้เกิดขึ้น. ในที่นี้จะแสดงเรื่องเหล่านี้โดยสังเขป พอเป็นเครื่องประกอบของกามาวจรกุศลจิต เรื่องนี้มาในอรรถกถาอภิธรรมชื่อว่า อัฏฐสาลินี และคัมภีร์อื่นๆฝ่ายพระสูตรมากแล้ว ขอท่านสาธุชนค้นหาความพิสดารในนั้นเถิด.
พระฎีกาจารย์แสดงไว้ในคัมภีร์ฎีกาอภิธัมมาวตาร บุญกิริยาวัตถุ โดยแยกศัพท์นี้ออกเป็น ๓ คือ
บุญ คือ สภาวะทำให้เกิดผลน่าบูชา และ เป็นสภาวะชำระสันดานของตน
กิริยา คือ กรรมอันควรทำ
วัตถุ คือ เหตุอันเป็นที่ต้้งของอานิสงส์เหล่านั้นๆ.
และเมื่อนำสามศัพท์รวมกัน ก็ได้ความว่า บุญนั้นเป็นสิ่งที่ควรทำ ชื่อว่า บุญกิริยา, บุญกิริยานั้นคือวัตถุ เพราะเป็นที่ตั้งคือเป็นเหตุแห่งอานิสงส์ต่างๆ จึงชื่อว่า บุญกิริยาวัตถุ.
จิต ๘ ดวงเหล่านี้แหละ ก็คือบุญกิริยาวัตถุทั้ง ๑๐ ประการนั้นทีเดียว จึงหมายความว่า เมื่อจิตดวงนี้เป็นไป ก็ย่อมเป็นไปโดยเป็นบุญกิริยาวัตถุได้ทั้ง ๑๐ ซึ่งต่างจากรูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล และโลกุตรกุศลที่เป็นไปโดยภาวมยกุศลอย่างเดียวเท่านั้น.
ยังมีความหมายอีกนัยหนึ่ง คือ จิต ๘ ดวงนี้แหละ ย่อมเป็นไปโดยเป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ อย่างนี้เท่านั้น จะเป็นไปโดยบุญกิริยาวัตถุมีการสรรเสริญเทพอื่นเป็นต้น ที่พวกเดียรถีย์ฝ่ายอื่นตั้งขึ้น ก็หามิได้. เรื่องนี้ พระฎีกาจารย์บอกว่า จะมีรายละเอียดให้ติดตามในข้อความว่า “บุญคืออนุสสติทั้งปวง” เป็นต้น ที่จะมาถึงในคราวต่อๆไป.
ขออนุโมทนา
สมภพ สงวนพานิช
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น