วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๑ : กุศลชาติ : วจนัตถะ คือ คำจำกัดความของคำว่า กุศล



อภิธัมมาวตาราวตาร#๑ : เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กุศลชาติ : วจนัตถะ คือ คำจำกัดความของคำว่า กุศล 

คัมภีร์อภิธัมมาวตาร แสดงรายละเอียดของจิตตปรมัตถ์ในบรรดาปรมัตถธรรม ๔ โดยแบ่งสภาวะของจิตออกเป็นกุศล อกุศล และ อัพยากตะ ดังนี้

กุสลากุสลาพฺยากตชาติเภทโต ติวิธํ

จิตมี ๓ ประเภทโดยจำแนกตามสภาพที่เหมือนกันได้ ๓ คือ กุศล อกุศล และ อัพยากตะ.

ต่อไปนี้จะเรียกสภาพธรรมถึงจะแยกเป็นหลายอย่าง แต่มีที่เหมือนกันโดยความเป็นกุศลเป็นต้นว่า “ชาติ” ตามคำศัพท์ที่นิยมใช้ในแวดวงพระอภิธรรม.

ดังนั้น จิตจึงถูกแบ่งออกเป็น ๓ ชาติ คือ กุศลจิต เรียกว่า กุศลชาติ, อกุศลจิต เรียกว่า อกุศลชาติ, อัพยากตจิต เรียกว่า อัพยากตชาติ.

จิต ๓ ชาติเหล่านั้น เมื่อกล่าวตามพระอภิธรรมปิฎก กุศลชาติ ถูกยกขึ้นแสดงเป็นลำดับแรกดังที่ปรากฏในมาติกาพระอภิธรรม ธัมมสังคณีปกรณ์ อภิธรรมปิฎกว่า

กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา อพฺยากตา ธมฺมา. 
สภาวธรรมมี ๓ ประการ (ชุดที่ ๑) ธรรมที่เป็นกุศล พวกหนึ่ง, ที่เป็นอกุศลพวกหนึ่ง, ที่เป็นอัพยากตะ คือ ที่ไม่กล่าวว่าจะเป็นกุศล หรือ อกุศล พวกหนึ่ง.

ด้วยเหตุนี้ จึงควรทำความเข้าใจในจิตที่เป็นกุศลชาติ เป็นลำดับแรก.
กุศลชาติ คือ กุศลจิตที่แบ่งออกเป็น ๒๑ ประเภท ต่อไปนี้จะเรียกง่ายๆว่า “ดวง” ที่ใช้เป็นบัญญัติเรียกขานจิตประเภทหนึ่งๆ แต่ท่านทั้งหลายไม่พึงเข้าใจว่า จิตมีสภาพหรือมีรูปร่างเป็นดวงกลม ตามคำพูดนี้.
ก่อนจะกล่าวรายละเอียดของจิตที่เป็นกุศลชาติ ๒๑ ดวงว่า มีอะไรบ้าง ควรทำความเข้าใจในคำว่า กุศล ตามนิยามที่คัมภีร์อภิธัมมาวตาร ได้นำเสนอไว้ ดังนี้

ตตฺถ กุสลนฺติ ปเนตสฺส โก วจนตฺโถ?
๑๐.
กุจฺฉิตานํ สลนโต,  กุสานํ ลวเนน วา;
กุเสน ลาตพฺพตฺตา วา,  กุสลนฺติ ปวุจฺจติฯ
ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น คำว่า กุศล มีคำจำกัดความว่าอย่างไรบ้าง

๑๐. คำว่า กุศล ที่ใช้เรียกกันนี้ หมายถึง
- ธรรมที่สร้างความหวั่นไหวให้แก่ธรรมที่น่ารังเกียจ
- ธรรมที่ตัดอกุศลธรรมที่เรียกกันว่า กุสะ
- ธรรมที่ถูกปัญญาที่เรียกกันว่า กุสะ ให้ดำเนินไป.

วันนี้พอสมควรแก่เวลา คราวหน้ามาดูรายละเอียดของคำจำกัดความของข้อความเหล่านี้กัน.
ขออานุภาพแห่งพระไตรรัตน์จงทำให้กุศลจิตนี้พลันบังเกิดแก่ท่าน เพื่อทำให้ธรรมน่ารังเกียจหวั่นไหว สามารถตัดกุสธรรม ด้วยใช้ปัญญาชื่อกุสะพิจารณายึดจับไว้.

ขออนุโมทนา
สมภพ สงวนพานิช.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น