วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๕๕ : คำว่า กาม ในคำว่า กามาวจรกุศล (ต่อ)

#๕๕อภิธัมมาวตาราวตาร เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กามาวจรกุศลจิต : คำว่า กาม ในคำว่า กามาวจรกุศล (ต่อ)

( เนื้อความช่วงนี้อยู่ใน #คัมภีร์อภิธัมมาวตาร๕ )

เมื่อคราวที่แล้วได้ตั้งปัญหาทดสอบเชาวน์ บัดนี้จะวิสัชชนา

#ปัญหาน่าสงสัย

ถาม ที่ท่านยกคำว่า กิเลสและวัตถุ (บาฬีว่า เกฺลสวตฺถุ) ธรรม ๑๐ อย่างคือ  โลภะ โทสะ โมหะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา เป็นต้นก็ถูกเรียกว่า กิเลส เหมือนกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ โทสะ และโมหะ เป็นต้น ก็น่าจะเป็นกิเลสด้วยมิใช่หรือ เหตุไร ท่านจึงบอกว่า ฉันทราคะเท่านั้น กล่าวคือ โลภะ เป็นกิเลสในที่นี้.

ตอบ ก็เพราะเกรงว่า จะเกิดข้อทักท้วงอย่างนี้นั่นเอง ท่านจึงต้องจำกัดความไว้ว่า “ได้แก่ ฉันทราคะนั่นเอง (ฉนฺทราโคว)” เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ไม่ต้องยกเอากิเลสฝ่ายอื่นมาปะปนในคำว่า “กิเลส” นี้. นอกจากนี้ สภาวะของโลภะในที่นี้ได้แก่ สภาพที่ยินดี ติดใจ มัวเมาต่ออารมณ์เหล่านั้น แต่ธรรมเหล่านั้น หาได้มีสภาพเป็นอย่างนั้นไม่.

#ปัญหาน่าสงสัย

ถาม น่าจะจัดกามทั้งหลายโดยย่อว่า วัตถุกาม อย่างเดียว โดยความเป็นสิ่งที่ถูกใคร่ ไม่จำเป็นต้องจัดเป็น ๒ อย่าง เพราะกิเลสกาม อาจถูกใคร่ เพราะเป็นสิ่งน่ายินดีพอใจ เหมือนอย่างกิเลสเหล่าอื่นที่เหลือก็ถูกยินดีพอใจได้ เพราะฉะนั้น กิเลสกามก็ควรรวมไว้ในวัตถุกาม เหตุที่ถูกใคร่ เช่นเดียวกับที่ในบางแห่งสงเคราะห์แม้ปัญญาเข้าในคำว่า เญยยะ เพราะเป็นสิ่งที่ควรรู้ อันเป็นอารมณ์ของปัญญาด้วย.

ตอบ อย่าคิดมากไปเลย อย่างไรเสีย ถึงกิเลสกามเมื่อจะถึงความเป็นวัตถุกาม ก็เข้าถึงโดยสภาพที่ถูกใคร่ แต่ไม่ใช่เป็นฐานะที่ใคร่, แต่ที่จริงแล้ว กิเลสกามเท่านั้นที่เห็นมีด้วยความเป็นสภาวะที่ใคร่, วัตถุกามจะมีโดยความเป็นสภาวะที่ใคร่หาได้ไม่ ฉะนั้น ถ้าไม่มีสภาวะที่ใคร่ จะมีสภาวะใดให้ถูกใคร่เล่า.

ทั้งสองคำถามนี้ ได้มาจากคัมภีร์ฎีกา ที่แสดงไว้โดยนัยเพื่อจะป้องกันความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสภาวธรรมที่อาจเกิดขึ้นได้โดยข้อความที่สื่อออกมา เพราะโวหารที่ท่านนิยมใช้ในบาฬีมีหลายอย่าง ทั้งโดยตรง โดยอ้อมก็มี ต้องนำคำอธิบายประกอบ ก็มี บางข้อความมีความตรงตัวอยู่ในคำศัพท์ ก็มี.

ขออนุโมทนา

สมภพ สงวนพานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น