วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๓: วจนัตถะ คือ คำจำกัดความของกุศลแบบที่ ๑.

อภิธัมมาวตาราวตาร#๓ : เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กุศลชาติ : วจนัตถะ คือ คำจำกัดความของกุศลแบบที่ ๑. 

กุศล เพื่อการสั่นหวั่นไหว แห่งบาปธรรม โดยกำจัดออก และสกัดกั้น.

คำจำกัดความที่ ๑.

ที่เรียกกันว่า “กุศล” เพราะเป็นธรรมที่สร้างความหวั่นไหวให้แก่ธรรมที่น่ารังเกียจ


เมื่อกล่าวว่า ธรรมที่น่ารังเกียจ บัณฑิตในพระศาสนานี้ จะทราบได้ทันทีว่า ได้แก่ บาปอกุศล เนื่องจากเป็นที่น่ารังเกียจ น่าตำหนิติเตียน สำหรับบัณฑิตผู้รู้แจ้งในบาปบุญ. ท่านทั้งหลายพิจารณาความข้อนี้โดยเปรียบกับการที่ชนชาวเมืองที่รักความสะอาด ย่อมรังเกียจสิ่งสกปรก ตำหนิติเตียนความสกปรก ดูเถิด ก็จะอนุมานได้ถึงความเป็นธรรมที่น่ารังเกียจ น่าตำหนิติเตียนของบาปธรรมเหล่านี้ ที่วิญญูชนรังเกียจ ไม่ยินดีแม้เพียงเล็กน้อย.

ถ้าจะนึกสงสัยว่า ที่ว่า สร้างความหวั่นไหว นั้นเป็นอย่างไร เพราะที่เคยทราบมาก็มีแต่บาปธรรมนั้น ทำให้คนดีหวั่นไหวกลายเป็นคนไม่ดีมามากนักต่อนัก. เรื่องนี้ ความเห็นของชาวโลก ในบางเรื่องจะสวนทางกับทางธรรม. เพราะธรรมชาติของบุญกุศล เป็นธรรมชาติฝ่ายกำจัด ส่วนบาปอกุศล เป็นธรรมชาติฝ่ายถูกกำจัด.

คำว่า สร้างความหวั่นไหว ในที่นี้ ได้แก่ การกำจัด หรือ การนำออกไป อย่างหนึ่ง. 

ธรรมดาว่า กุศลเป็นธรรมชาติฝ่ายกำจัด ดังกล่าวมาแล้ว ซึ่งอานุภาพของการกำจัดจะมีมากขึ้นไปตามกำลังของกุศลประเภทนั้นๆ กล่าวคือ 

กุศลชั้นเริ่มต้นที่เกิดขึ้นในเวลาให้ทาน รักษาศีล เป็นต้น ก็จะมีอานุภาพกำจัดบาปอกุศลในขั้นที่กำราบไว้เป็นบางชนิดตราบเท่าที่ทานกุศล ศีลกุศลนั้นเกิดขึ้น, 

กุศลชั้นกลางที่เกิดขึ้นในเวลาที่ได้อบรมจิตจนบรรลุความมั่นคงไม่หวั่นไหวไปด้วยอำนาจสิ่งเย้ายวน (อารมณ์อันเป็นฝ่ายตรงข้ามและกิเลส) ที่รบกวนให้จิตหวั่นไหว ตามแนวทางของการเจริญสมาธิภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ก็จะมีอานุภาพกำจัดบาปอกุศล ได้นานขึ้นตราบเท่าที่อานุภาพของสมาธิและวิปัสสนายังไม่หมดไป, 

กุศลชั้นสูงสุดที่เกิดขึ้น เมื่อเจริญวิปัสสนาภาวนาตามแนวทางที่ถูกต้องจนกระทั่งบรรลุถึงความหมดจดสูงสุด ก็จะมีอานุภาพกำจัดกิเลสทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาดมิให้เกิดขึ้นอีกต่อไป. ด้วยการกำจัด หรือ การนำบาปธรรมออกไป ๓ ระดับอย่างใดอย่างหนึ่ง  แห่งบุญกุศลนี้แหละ จึงเป็นเหตุให้ธรรมเหล่านี้ได้ชื่อว่า กุศล เพราะกำจัด หรือ นำบาปธรรมออกไป.

ถ้าจะทำความเข้าใจอย่างนี้ก็ได้ คือ การสร้างความหวั่นไหวต่อบาปอกุศล  ก็เพราะเป็นการสำรวมระมัดระวัง คือ ปิดกั้นบาปอกุศลเหล่านั้นไว้. ในเรื่องนี้ ควรทราบว่า บุญกุศล จะทำหน้าที่สกัดกั้น กีดกันบาปอกุศลไว้มิให้เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ โดยห้ามมิให้บาปอกุศลดำเนินไป, และจนในที่สุดมิให้เกิดขึ้นอีกต่อไป.

วันนี้ใช้เวลาพอสมควรในการพรรณนาความหมายที่ ๑ ของคำว่า กุศล ตามนัยของคัมภีร์ฎีกาอภิธัมมาวตารที่ชื่อว่า อภิธัมมัตถวิกาสินี

ขออานุภาพแห่งกุศลอันเกิดจากการอ่านบทความอภิธัมมาวตาราวตาร นี้ จงทำให้กุศลจิตบังเกิดมีท่านทั้งหลาย เพื่อกำจัด เพื่อนำออกไป เพื่อป้องกันสกัดกั้นบาปอกุศลได้ ตามควรแก่โอกาสในการบำเพ็ญกุศลข้อนั้นๆ

ขออนุโมทนา

สมภพ สงวนพานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น