กุศลชาติ : คำว่า กุสล มีความหมายว่า อาโรคยะ ไม่มีโรค
แม้คำว่า กุสล นอกจากจะมีความหมายว่า เฉกะ คือ ความฉลาด ดังที่ได้ศึกษาในคราวก่อนแล้ว ยังถูกนำมาใช้ในความหมายว่า ความไม่มีโรค อีกด้วย
ตัวอย่างเช่นในพระไตรปิฎกว่า
กจฺจิ นุ โภโต กุสลํ, กจฺจิ โภโต อนามยํ
พระคุณเจ้าผู้เจริญไม่มีโรคาพาธหรือ พระคุณเจ้าสุขสำราญดีอยู่หรือ
ข้อความนี้มาในคัมภีร์พระบาฬีขุททกนิกาย ชาดก โสณนันทชาดก (๒๘/๑๕๑)
แม้กุสล ที่มีความหมายว่า อาโรคยะ ไม่มีโรค ก็ยังไม่ใช่คำว่า กุสล ที่ท่านพระพุทธทัตตเถระ ผู้รจนาคัมภีร์อภิธัมมาวตาร ต้องการใช้ในที่นี้
เกิดมีปัญหาน่าทักท้วงว่า
ในคัมภีร์อรรถกถาธัมมสังคณีปกรณ์ อภิธรรมปิฎก (อัฏฐสาลินี) ท่านกล่าวว่า ในที่นี้คำว่า กุสล ถูกนำมาใช้ในความหมายคือ อาโรคยะ โดยนัยว่า ทางรูปกาย สภาพที่ไม่เหน็ดเหนื่อย ไม่ป่วยไข้ ท่านเรียกว่า กุสล ฉันใด, แม้ความไม่เหน็ดเหนื่อยเพราะกิเลส และความไม่ป่วยไข้เพราะกิเลสทางนามธรรม ก็พึงทราบว่า เป็นกุสล เพราะเป็นสภาพที่ไม่มีโรค แม้ฉันนั้น ดังนี้มิใช่หรือ, เพราะเหตุไร ในอภิธัมมาวตารนี้จึงเว้นความหมายนี้ไป
ตามที่ท่านท้วงมาก็จริงอยู่ แต่การใช้เพียง ๒ ความหมายหลัง เพียงเพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะของกุศล ดังที่ท่านจะกล่าวต่อไปว่า กุศล มีความไม่มีโทษและมีผลที่น่ายินดีเป็นลักษณะ. หาได้เป็นเพราะคำว่า กุสล ไม่มีใช้ในความหมายว่า ไม่มีโรค ก็หามิได้.
อันที่จริง กุศล ก็คือ ความไม่มีโรคนั่นแหละ แต่ไม่ใช่โรคทางกาย แต่เป็นความไม่มีโรคคือกิเลส มีราคะ เป็นต้น ที่เร่าร้อนภายในใจ อันเนื่องจากความมักมากในปัจจัย ๔ เป็นเหตุ ดังพระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่าใดปฏิญาณความไม่มีโรคทางใจแม้ครู่หนึ่ง สัตว์เหล่านั้นหาได้ยากในโลก เว้นจากพระขีณาสพฯ (พระบาฬีอังคุตรนิกาย จตุกกนิบาต โรคสูตร ๒๑/๑๕๗)
วันนี้พอสมควรแก่เวลา คราวหน้ามาศึกษาความหมายอื่นๆอีกต่อไป.
ด้วยอำนาจแห่งกุศลที่ได้บำเพ็ญมา ความป่วยใจเมื่อมีแก่ท่านสาธุชนทั้งหลาย ขอจงสลายสิ้นไปโดยฉับพลันเอย.
“กายป่วย ใจไม่ป่วย”
ขออนุโมทนา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น