วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๓๑ : ความหมายของคำว่า อกุศล (ต่อและจบ)

#๓๑อภิธัมมาวตาราวตาร : เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
อกุศลชาติ : วจนัตถะ คือ ความหมายของคำว่า อกุศล (ต่อและจบ)

คราวที่แล้วได้ทิ้งท้ายไว้ว่า ระบบธรรมในพระพุทธศาสนาวางธรรมเป็นหมวดๆละ ๓ ประเภท เรียกว่า ติกะ และติกะที่เกี่ยวกับกุสลชาติ เรียกว่า กุสลติกะ ก็มีธรรม ๓ ประเภท คือ กุศลชาติ อกุศลชาติ และ อัพยากตชาติ. หากมีความเข้าใจในคำว่า อกุศลผิดไป ก็จะทำให้กุสลติกะเสียระบบไปด้วย.

ระบบธรรมที่ว่ามานั้น ก็คือ พระบาฬีอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณีปกรณ์ ติกมาติกา นั่นเอง. บัดนี้ จะนำกุสลติกะ ที่ถูกวางเป็นระบบในติกมาติกานั้นมาเป็นพยานหลักฐาน เพื่อความประจักษ์ในเรื่องอันควรจะเป็นสืบไป

พระบาฬีนั้นวางกุสลติกะไว้ว่า

กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา อพฺยากตา ธมฺมา

สภาวธรรมอันไม่ใช่สัตว์และบุคคล ที่เป็น กุศล อย่างหนึ่ง, อกุศล อย่างหนึ่ง และ อัพยากตะ อย่างหนึ่ง มีอยู่.

คำว่า อกุศล ในติกะนัันเป็นธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกุศล คือ ธรรมชาติที่เป็นข้าศึกตรงต่อกุศล เหมือนหนึ่งผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อมิตร ก็เป็นอมิตร (ศัตรู) และ ธรรมฝ่ายปฏิปักษ์ต่อโลภะ ก็เรียกว่า อโลภะ (ธรรมหักล้างโลภะ) ฉะนััน เมื่ออกุศลมีความหมายดังว่ามานี้ จึงมีติกะโดยเกี่ยวกับอกุศลนั้นเกิดขึ้น.

อนึ่ง ท่านผู้ใส่ใจในรายละเอียดของธรรม คงสังเกตว่า ท่านใช้คำว่า เป็นข้าศึกตรง สื่อความหมายของความเป็นอกุศลในที่นี้.   ความเป็นข้าศึกตรงต่อกุศล ของอกุศล ก็มีเพราะอกุศลมีความเป็นโทษและมีวิบากไม่น่าปรารถนา นอกจากนี้ ก็เพราะความเป็นธรรมที่ถูกกุศลนั้นละไป.

อย่าทำความเข้าใจว่า ความเป็นข้าศึกตรง ก็เพราะทำให้กุศลพินาศไป. ถ้าเข้าใจอย่างนี้ก็ผิดอีก เพราะกุศลไม่ถูกอกุศลทำให้เสื่อมไป แต่กลับเป็นว่า กุศลเท่านั้น ที่ทำอกุศลให้เสื่อมไป. ธรรมชาติของกุศลเป็นอย่างนี้ คือ กุศลมีกำลังมาก, อกุศลนั้นทรามกำลัง. ท่านคงนึกแปลกใจ เป็นจริงดังว่ามากระนี้หรือ? จะสาธกพระบาฬี, 
พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในคัมภีร์พระบาฬีสุตตนิบาต กามสูตร (๒๕๑/๔๐๘) ดังนี้ว่า 

อพลา นํ พลียนฺติ, มทฺทนฺเตนํ ปริสฺสยา 

กิเลสทั้งหลายอันมีกำลังน้อย ย่อมครอบงำย่ำยีนรชนนั้นได้ อันตรายทั้งหลายก็ย่อมย่ำยีนรชนนั้น.

ในบาฬีนี้ แสดงว่า กิเลสอกุศลมีกำลังน้อย ไม่มีกำลังมากเหมือนกุศล แต่การที่เราเข้าใจว่า กิเลสมีกำลังมากในเวลาที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจกิเลส เนื่องจากเราไม่สามารถทำให้กุศลมีกำลังขึ้น หรือ ให้เกิดขึ้นได้เลยต่างหาก.

ยังมีข้อยุตติด้วยเหตุผลอีกหลายประการ หากจะยกมาแสดงทั้งหมดคงกลายเป็นธรรมเทศนาสาธกไปเท่านั้น จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้

กุศลเท่านั้นเป็นผู้ยีทำลายอกุศล อกุศลจะกลายเป็นผู้ทำลายกุศลไม่ได้เสมอ.

ขออนุโมทนา

สมภพ สงวนพานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น