วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๖ : วคำจำกัดความของกุศลแบบที่ ๓ (ต่อและจบ).

#อภิธัมมาวตาราวตาร๖ : เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กุศลชาติ : วจนัตถะ คือ คำจำกัดความของกุศลแบบที่ ๓ (ต่อและจบ). 

กุสล คือ ธรรมที่มีปัญญาช่วยให้เป็นไป

เมื่อคราวที่แล้วมา ได้กล่าวความหมายของคำจำกัดความแบบที่ ๓ ไปแล้ว แต่ยังมีความหมายของกุศลในแง่ที่ว่า มีญาณชื่อ กุสะ ทำให้เป็นไปในจิตสันดาน เหลืออีกประการหนึ่ง ที่ควรทราบ.

กุสะ นั่นเอง นอกจากจะเป็นชื่อหนึ่งของปัญญาแล้ว ยังเป็นชื่อของอินทรียธรรมทั้งหลาย มีสัทธินทรีย์เป็นต้น ซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่พุทธมามกะว่า บุญกิริยา คือ การกระทำอันเป็นบุญ มีทานเป็นต้นนั่นเอง. อินทรียธรรมอันได้ชื่อว่า กุสะนี้ ก็เป็นไปโดยทำนองเดียวกับปัญญาญาณที่ชื่อกุสะ ดังกล่าว เหตุที่เป็นธรรมที่กำจัดอกุศลธรรมให้เบาบาง ให้หมดสิ้นไป,

ก็ธรรมที่ มีสภาพถูกกุสะคืออินทรียธรรมเหล่านั้นทำให้ดำเนินไปโดยวิธีเดียวกับญาณที่เคยกล่าวมาแล้ว จึงเรียกกันว่า กุสล ด้วยประการฉะนี้.

บางท่านอาจสงสัยว่า อินทรียธรรมที่กล่าวมาคืออะไร. อินทรียธรรม คือ ธรรมที่มีความเป็นใหญ่กว่าธรรมเหล่าอื่นที่เกิดขึ้นในขณะเดียวกัน มี ๕ คือ

สัทธินทรีย์ คือ สัทธา คือ ความเชื่อ ความเลื่อมใส ได้แก่ เชื่อในพระรัตนตรัย กรรมและผลของกรรม. สัทธานี้ มีความเหนือกว่าธรรมเหล่าอื่น ในสภาพที่ตัดสิน และ เนื่องจากครอบงำความไม่มีศรัทธาได้ จึงชื่อว่า อินทรียธรรม โดยเป็นสัทธินทรีย์

วิริยินทรีย์ คือ ความเพียร ที่มีลักษณะเป็นความอุปถัมภ์ค้ำชูกุสลธรรมทั้งหมด มิให้เสื่อมสูญไป เพราะความเกียจคร้าน.  วิริยะ นี้มีความเหนือกว่าธรรมเหล่าอื่น ในลักษณะสนับสนุนธรรมเหล่าอื่น และสามารถครอบงำความเกียจคร้าน   ความเพียร นั่นเอง จึงชื่อว่า อินทรียธรรม โดยเป็นวิริยินทรีย์

สตินทรีย์ คือ สติ ที่มีสภาพไม่เลื่อนลอย ประคับประคอง ให้ระลึกถึงกุศลธรรมได้. สติ นี้มีความเหนือกว่าธรรมเหล่าอื่น ในสภาพที่เข้าไปตั้งไว้ในปัจจุบันอารมณ์ และสามารถครอบงำความลืมสติได้. สติ นั่นเอง จึงชื่อว่า อินทรียธรรม โดยเป็นสตินทรีย์

สมาธินทรีย์ คือ สมาธิที่มีสภาพตั้งจิตไว้ในอารมณ์โดยชอบ. สมาธิ นี้ มีความเหนือกว่าธรรมเหล่าอื่น ในสภาพี่ไม่ซัดส่าย และ สามารถครอบงำความซัดส่ายได้. สมาธิ นั่นเอง จึงชื่อว่า อินทรียธรรม โดยความเป็น สมาธินทรีย์.

ปัญญินทรีย์ คือ ปัญญาที่มีสภาวะรู้อริยสัจโดยประการต่างๆว่า รูปนามนี้เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตนเป็นต้น, มีสภาพรู้ธรรมที่เป็นกุศลและอกุศลโดยประการต่างๆ ที่ควรเสพและไม่ควรเสพ ที่เลวและประณีต ที่ดำและขาว และที่เข้ากันได้และเข้ากันไม่ได้ และมีสภาพที่ส่องสว่าง. ปัญญานี้ มีความเหนือกว่าธรรมเหล่าอื่นในสภาพที่รู้ และเพราะครอบงำความหลงได้. ปัญญานั้นนั้นจึงชื่อว่า อินทรียธรรม โดยความเป็นปัญญินทรีย์.

อินทรียธรรม ๕ เหล่านี้แหละ ได้ชื่อว่า กุสะ และทำให้ธรรมฝ่ายนี้ดำเนินไป ฉะนั้น ธรรมฝ่ายนี้จึงชื่อว่า กุสล

วันนี้ขอยุติไว้เพียงเท่านี้ ขอจิตของท่านทั้งหลายดำเนินไปด้วยอำนาจกุสะเถิด.

ขออนุโมทนา
สมภพ สงวนพานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น