วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๒๐ : ลักขณาทิจตุกกะของกุศล นัยที่ ๑ (ต่อ)

#๒๐อภิธัมมาวตาราวตาร : เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กุศลชาติ : ลักขณาทิจตุกกะของกุศล นัยที่ ๑ (ต่อ)

#รู้รอบพระอภิธรรม ช่วยเสริมเชาวน์ เขย่าความคิด #ปัญหาน่าสงสัย ใครรู้บ้าง

เหตุไรท่านใช้คำว่า อนวัชชะ และ อิฏฐวิปาก มากำกับลักษณะของกุศล. ถ้าใช้คำว่า อนวัชชะ ไม่มีโทษ คำเดียว ก็สามารถผนวกคำว่า อัพยากตธรรม เข้าไว้ได้ เพราะอัพยากตธรรมยังถือว่าเป็นธรรมไม่มีโทษเหมือนกัน. แต่เมื่อใช้คำว่า มีวิบากน่าปรารถนา มาอธิบาย ก็ได้ความหมายอยู่แล้ว เนื่องจากกันอัพยากตธรรมที่ไม่มีวิบากออกไป ไม่ต้องกล่าวถึงอกุศลธรรมเลย, ด้วยเหตุนี้ ควรใช้คำว่า อิฏฐวิบาก เพียงคำเดียวน่าจะพอแล้วมิใช่หรือ ไม่น่าจะต้องใช้ถึงสองบท?

ในเรื่องนี้ มีจุดมุ่งหมายในการใช้สองบทควบกันอยู่ว่า

๑. บทว่า อนวัชชะไม่มีโทษ แสดงถึงกุศลมีความเป็นไปเพื่อความสุข, บทว่า อิฏฐวิบาก แสดงถึงความสามารถในการให้ผลในภายหน้า

๒. บทว่า อนวัชชะ แสดงความหมดจดของตน, ส่วน อิฏฐวิบาก แสดงความหมดจดของผล

๓. บทว่า อนวัชชะ ปฏิเสธอกุศล, อิฏฐวิบาก ปฏิเสธอัพยากตะ

แค่ ๓ เหตุผลนี้ก็น่าจะพอสำหรับการใช้สองบทกำกับลักษณะของกุศล ไม่ต้องกล่าวให้มากไป.
อนึ่ง คำแสดงลักษณะของกุศลนี้ ก็คือสามัญญลักษณะของกุศล เนื่องจากธรรมพวกกุสลชาติ มีสภาพไม่มีโทษและมีวิบากน่าปรารถนาเหมือนกัน. นอกจากนี้ยังเป็นสภาวลักษณะ คือ ลักษณะเฉพาะตนของกุศล เพราะอกุศลและอัพยากตะไม่มีสภาพเหล่านี้.

ท่านทั้งหลายที่ติดตามบทความนี้มา จะเห็นข้อความพรรณนาอรรถพระอภิธรรมที่หลากหลายแตกแขนงออกจากคัมภีร์อภิธัมมาวตาร.

ข้อความเหล่านี้เป็นภูมิปัญญาของพระฎีกาจารย์ นับเป็นอรรถรสของคัมภีร์ฝ่ายพระอภิธรรม.
ความคิดเห็นที่ถูกถ่ายทอดออกมาโดยการตั้งเป็นปัญหาต่างๆเหล่านี้ แสดงความนิยมศึกษาพระอภิธรรมในยุคนั้น และเป็นประเด็นที่ถกเถียงกัน ท่านจึงนำมาเป็นแนวทางให้คนรุ่นหลังอย่างเราท่านได้รับรู้.

 ขอท่านทั้งหลายตั้งใจอ่านคัมภีร์นี้ต่อไปเถิด เพื่อจะได้อรรถของพระอภิธรรมแบบครบถ้วน ตามแบบฉบับของพระโบราณาจารย์ที่นำสืบทอดมา.

สภาวธรรมเมื่อถูกถ่ายทอดผ่านบัญญัติ ต้องใช้ปัญญาตรึกตรองตามไปบ้าง และไม่นานก็คงจะคุ้นเคยและเข้าใจได้ไม่ยาก.


ขออนุโมทนา
สมภพ สงวนพานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น