#๓๕อภิธัมมาวตาราวตาร :
เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
อัพยากตชาติ :
วจนัตถะ คือ ความหมายของคำว่า อัพยากตะ
(ต่อ)
นอกจากการแยกศัพท์โดย อ ไม่ +
พยากตะ ระบุหรือชี้ชัดแล้ว ยังมีการแยกศัพท์โดยนัยนี้อีก คือ
อัพยากตะ มาจาก อ +วิ + อา + กตะ
โดย
คำว่า อ หมายถึง เป็นอย่างอื่น
คำว่า วิ หมายถึง เป็นธรรมฝ่ายข้าศึกตรงข้าม
คำว่า อา หมายถึง ตรงต่อกัน
คำว่า กตะ หมายถึง ถูกกระทำ.
เมื่อนำคำว่า วิ กับ อา
มารวมกันกลายเป็น พยา แปลว่า ฝ่ายตรงข้ามกันโดยตรง เช่น ความเย็น
เป็นสิ่งตรงข้ามโดยตรงกับความร้อน ดังนี้เป็นต้น และนำมารวมกับคำว่า กตะ ถูกกระทำ
เป็น พยากตะ ถูกทำให้เป็นข้าศึกโดยตรงต่อกัน หมายถึง กุศลและอกุศล
ที่แต่ละฝ่ายต่างก็ถูกปัจจัยของตนกระทำไว้ให้เป็นข้าศึกโดยตรงต่อกันและกัน
โดยมีลักษณะที่เป็นข้าศึก หรือ โดยความเป็นธรรมฝ่ายทำลายและถูกทำลาย.
และนำคำว่า อ มารวมกับคำว่า พยากตะ
เป็นอัพยากตะ แปลว่า ธรรมอันเป็นอื่นจากกุศลและอกุศล อันชื่อว่า พยากตะ นั้น
สำหรับการสร้างรูปศัพท์ของอัพยากตะ
จึงมีความหมายที่กันออกจากกุศลและอกุศลอย่างนี้ว่า
อัพยากตะ คือ
ธรรมที่เป็นอื่นจากกุศลและอกุศลโดยมิได้มีลักษณะเป็นข้าศึกต่อกุศลและอกุศลนั้น
เฉกเช่นเดียวกับกุศลและอกุศลที่เป็นข้าศึกต่อกันและกัน.
อัพยากตะ คือ ธรรมที่เป็นอื่นจากกุศลและอกุศล
โดยที่ความไม่มีวิบากของตน มิได้ผิดไปจากความมีวิบากน่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา
เหมือนอย่างความมีวิบากไม่น่าปรารถนาผิดไปจากความมีวิบากน่าปรารถนา และ
เหมือนความมีวิบากน่าปรารถนาผิดไปจากความมีวิบากไม่น่าปรารถนา.
อัพยากตะ คือ ธรรมที่เป็นอื่นจากกุศลและอกุศล
โดยที่ตนมิได้ละกุศลและอกุศลอย่างใดอย่างหนึ่งและอีกทั้งตนก็มิได้ถูกธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งละเช่นกัน.
ขออนุโมทนา
สมภพ สงวนพานิช
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น