วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๘ : คำจำกัดความของคำว่า กุศล แบบที่ ๕.

#อภิธัมมาวตาราวตาร๘ : เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กุศลชาติ : วจนัตถะ คือ คำจำกัดความของคำว่า กุศล แบบที่ ๕. 

กุสล คือ ธรรมที่เหมือนกิเลสมีราคะเป็นต้น

คราวที่แล้วได้ยกอุปมาว่าด้วยหญ้าคามาเปรียบกับกุสล ถึงคราวนี้ จะได้แสดงกุสล ที่มีความหมายว่า ทำลายกิเลสมีราคะเป็นต้น ที่ชื่อว่า กุสะ.

กิเลส ชื่อว่า กุสะ  เพราะเป็นธรรมที่ทำลายเผาผลาญนามรูปอันเป็นที่ตั้งของตนเอง มาจาก

กุ = นามและรูป
ส = ทำลาย
กุส = ราคะเป็นต้นที่ทำลายนามรูปอันเป็นที่อยู่ของตัวเองทั้งในบัดนี้และในอนาคต
ล = ทำลาย

กุสล ธรรมที่ทำลายนามรูปเหมือน กุส

ขยายความได้อีกเล็กน้อย,

ตามปกติ คำว่า กุ หมายถึง ภูมิ คือ ที่อยู่ของสัตว์ทั้งหลายมีอบายภูมิ มนุสสภูมิและเทวภูมิเป็นต้น. ในที่นี้ รูปขันธ์และอรูปขันธ์ กล่าวคือ นามรูป ก็ได้ชื่อว่า กุ เพราะเป็นเหมือนกับภูมิ เนื่องจากเป็นที่ดำรงอยู่แห่งธรรมทั้งหลาย (ลองตรองดูว่า ใช่หรือไม่).

ส่วนกิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้น ได้ชื่อว่า กุสะ เพราะทำลายนามรูปที่ชื่อว่า กุ นั้น โดยตามแผดเผา ทำลายนามและรูปนั้น ซึ่งเป็นที่อาศัยเกิดของตน ทั้งในบัดนี้และที่จักเกิดในอนาคต.

ธรรมที่ทำลายที่อาศัยของตนเหมือนอย่างกิเลสมีราคะเป็นต้น ชื่อว่า กุสล. เพราะกุศลธรรมทั้งหลาย ที่หมั่นทำให้บริบูรณ์ ไม่ขาดตกบกพร่อง จนถึงที่สุด ก็จะทำลายนามรูปได้โดยสิ้นเชิง ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไป อย่างแน่นอนทีเดียว เพราะพาให้เข้าถึงอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ.

เรื่องนี้น่าคิด ...

สภาวธรรม อาจสื่อได้ด้วยคำศัพท์ที่หลากหลาย.

ภาษา พาสับสน เมื่อหายฉงน จะเพลิดเพลินกับภาษา

ขออนุโมทนา
สมภพ สงวนพานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น