วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๕๖ : คำว่า กาม ในความหมายว่า ย่อมใคร่ซึ่งวัตถุ

#๕๖อภิธัมมาวตาราวตาร เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กามาวจรกุศลจิต : คำว่า กาม ในความหมายว่า ย่อมใคร่ซึ่งวัตถุ

( เนื้อความช่วงนี้อยู่ใน #คัมภีร์อภิธัมมาวตาร๕ )

เมื่อคราวที่แล้วมาได้กล่าวถึง คำว่า กาม ในแง่มุมที่ว่า เป็นกิเลสกาม และ วัตถุกาม ถึงคราวนี้ ท่านขยายแนวทางการพรรณนาคำว่า กาม โดยนัยแห่งหลักภาษาเพื่อย้ำให้เห็นว่า คำศัพท์เหมือนกัน อาจทำให้เป็นคนละความหมายได้ ด้วยการแสดงข้อความที่แสดงความหมาย หรือคำนิยามแบบสั้นๆ.  ภาษาบาฬีเรียกคำนิยามสั้นๆนี้ว่า รูปวิเคราะห์ อันแสดงถึงทิศทางของศัพท์นั้นว่าจะสื่อความเป็นผู้ทำกิริยาหรือผู้ถูกกระทำเป็นต้น.

คัมภีรอภิธัมมาวตารต้องการให้นักศึกษาแม่นยำและชัดเจนในคำว่า กาม ทั้่งสองประเภทว่า เหตุที่กิเลส ได้ชื่อว่า กาม เพราะเป็นสภาวะที่ทำกิริยาคือ ใคร่หรือยินดีซึ่งวัตถุ เสียเอง, และแมัวัตถุที่ถูกใคร่ ก็มีชื่อว่า กาม เหมือนกัน เพราะเป็นสภาวะที่ถูกใคร่ หรือ ถูกยินดี ด้วยกาม. พิจารณาคำพูดของท่านเกี่ยวกับเรื่องนี้ในคาถาที่ ๑๓ดังนี้

กิเลสกาโม กาเมติ                วตฺถุ กามียตีติ จ;
สิชฺฌติ ทุวิโธเปส                  กาโม โว การกทฺวเยฯ
ก็กิเลสกาม ย่อมใคร่ (ซึ่งวัตถุ),  วัตถุกาม ถูกกิเลสกามใคร่ เพราะเหตุนั้น กามทั้ง ๒ นี้จึงสำเร็จในการกทั้งสอง.

เห็นจะต้องกล่าวถึงหลักการใช้และหลักการประกอบคำศัพท์ในภาษาบาฬีสักเล็กน้อย

ดังได้กล่าวมาแล้วเรื่องการใช้คำศัพท์บาฬีว่า เมื่อต้องการให้คำศัพท์ที่จะกล่าวออกมาสื่อถึงเรื่องสิ่งใด ผู้พูดต้องสร้างคำนิยามไว้ก่อนแล้วจึงประกอบศัพท์.

โดยทั่วไปคำศัพท์บาฬีที่เป็นคำนาม จะประกอบไปด้วยอักษรสองส่วนใหญ่ๆ คือ ธาตุ ได้แก่ อักษรส่วนที่รากศัพท์ และ ปัจจัย ได้แก่ อักษรส่วนที่เป็นตัวชี้ความหมายของธาตุนั้น. (ในกรณีนี้เป็นการสร้างคำศัพท์ก่อนจะนำผสมวิภัตติเพื่อนำไปใช้ในประโยค). 

เมื่อนำสองส่วนนี้มารวมกัน ก็จะกลายเป็นคำศัพท์และเมื่อต้องการจะให้คำศัพท์นี้แสดงความหมายทางใด ก็ตั้งนิยามสั้นๆให้สอดคล้องกับความหมายนั้น. 

ตัวอย่างเช่น 

ในคำว่า กาม ที่มีความหมายว่า สิ่งที่ใคร่ และที่มีความหมายว่า สิ่งที่ถูกใคร่. ถูกแยกออกเป็น ๒ ส่วน คือ ธาตุ ได้แก่ กมุ แปลว่า ใคร่, ยินดี, พอใจ, ต้องการ ฯลฯ และ ปัจจัย ได้แก่ ณ อักษรที่ใช้สื่อถึงผู้ทำกิริยาการใคร่. เมื่อนำสองคำมารวมกัน ผ่านกระบวนการปรุงรูปศัพท์ตามหลักภาษาสำเร็จเป็น กาม. แต่ก่อนจะนำคำนี้มาพูดเพื่อแสดงความหมายว่าเป็นผู้ใคร่ ก็จะต้องกำหนดคำนิยามดังกล่าว ซึ่งถ้าหากจะให้เป็นคำแสดงถึงควาามเป็นผู้ใคร่ ที่จะกระทำกิริยาการใคร่ ก็ต้องกำหนดคำนิยามไว้ดังนี้

กาเมติ อิติ กาโม แปลว่า ธรรมที่ใคร่ หรือ ยินดี ชื่อว่า กาม หมายถึง กิเลสกาม ย่อมใคร่วัตถุกาม.

คำว่า กาม ในที่นี้ จะแปลว่า ผู้ใคร่วัตถุกาม. ก็คำว่า กาม ที่แปลว่า ผู้ใคร่ นี้ มีชื่อเรียกในหลักภาษาว่า กัตตุการก อ่านว่า กัด - ตุ - กา - รก.  

คำว่า การก หมายถึง คำศัพท์ที่ถูกทำให้สำเร็จจากคำนิยามหรือรูปวิเคราะห์ (แต่ในหลักทั่วไปเรียกว่า สาธนะ). 

คำว่า กัตตุ หมายถึง ผู้ทำกิริยา ดังนั้น กัตตุการก จึงแปลว่า คำศัพท์ที่ถูกทำให้สำเร็จจากคำนิยามที่สื่อความเป็นผู้ทำกิริยา. 

คำว่า กาม ในฐานะที่เป็นผู้ทำกิริยาการใคร่ ก็คือ ผู้ใคร่ จึงเป็นคำศัพท์ชนิด “กัตตุการก” ด้วยนิยามดังที่กล่าวมานั้น. 


ถามว่า ใครเป็นผู้ใคร่ 

ตอบ ได้แก่ กิเลสคือฉันทราคะเป็นผู้ใคร่ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเพิ่มคำว่า กิเลส ไว้ข้างหน้า กาม เป็น กิเลสกาม จึงเป็นห้ามกามอย่างอื่นออกเสีย.

ในการสำเร็จเป็นคำศัพท์ว่า กาม ตามหลักภาษา ยังมีรายละเอียดอีกมากมาย ในที่นี้แนะนำพอให้รู้จักกับภาษาบาฬีที่เป็นภาษาต้นแบบรจนาคัมภีร์ เพียงสังเขปเท่านั้น

สำหรับวันนี้ ยุติไว้เพียงคำว่า กาม ที่ อันหมายถึง กิเลสกาม สภาวะที่ใคร่วัตถุกาม ที่เป็นคำศัพท์ชนิด “กัตตุการก” ส่วนคำว่า กาม ที่หมายถึง วัตถุกาม จะเป็นการก อะไร คราวหน้ามาว่ากันต่อ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น