วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๕๔ : คำว่า กาม ในคำว่า กามาวจรกุศล (ต่อ)

#๕๔อภิธัมมาวตาราวตาร เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กามาวจรกุศลจิต : คำว่า กาม ในคำว่า กามาวจรกุศล (ต่อ)

( เนื้อความช่วงนี้อยู่ใน #คัมภีร์อภิธัมมาวตาร๕ )

เมื่อคราวที่แล้วได้กล่าวถึงกามที่จำแนกออกให้เห็นว่าได้แก่อะไรบ้าง ตามที่มาในคัมภีร์ขุททกนิกาย มหานิทเทส บาฬี คราวนี้จะเทียบกับกามที่ท่านแสดงไว้คัมภีร์อภิธัมมาวตาร

การแสดงโดยสังเขปนั่นเอง เรียกว่า อุทเทส เพราะเป็นการแสดงโดยยกเพียงหัวข้อ และการแสดงรายละเอียดที่อยู่ในอุทเทสนั้น เรียกว่า นิทเทส เพราะเป็นการแสดงไขรายละเอียดออกมา

โดยที่แท้แล้ว กามที่ท่านกล่าวไว้ในที่นี้ ก็คือ กามที่ถูกแสดงโดยย่อเป็นแต่หัวข้อที่เรียกว่า อุทเทสและที่จำแนกแจงแจง ซึ่งเรียกว่า นิทเทส ในคัมภีร์มหานิทเทสพระบาฬี. แต่ในอภิธัมมาวตารแสดงเพียงหัวข้อโดยสังเขป. 

จะเห็นได้ว่า กามหลายอย่างคือ รูป เสียงเป็นต้นที่น่าพอใจ เป็นต้นไปจนกระทั่งธรรมที่เป็นกามาวจรธรรม รูปาวจรธรรมอรูปาวจรธรรม ทั้งหมดเหล่านี้ ที่เป็นวัตถุของตัณหา เป็นที่ตั้งของตัณหา เป็นเหตุ และเป็นอารมณ์ของตัณหา ๓ คือ กามตัณหา รูปตัณหาและอรูปตัณหา ก็โดยสภาวะที่ถูกใคร่, ถูกยึดติด, ถูกทำให้เมา จึงรวมเรียกว่า วัตถุกาม. หากพิจารณาโดยสภาวธรรม ก็ได้แก่ ธรรมชาติกล่าวคือนามรูปเป็นไปกับวัฏฏะในภูมิ ๓ ทั้งที่มีวิญญาณและไม่มีวิญญาณ. ก็ธรรมเหล่านี้ มีคำศัพท์เรียกโดยเฉพาะว่า เตภูมกวัฏฏะ บ้าง เตภูมิกธรรม บ้าง แปลว่า ธรรมเป็นไปในภูมิ ๓ บ้าง. แต่ในที่นี้หมายถึงกามคุณ ๕ อันเป็นฝ่ายรูปธรรมเท่านั้น

และกามอีกหลายอย่างเช่นกัน ที่เป็นฝ่ายใคร่ ฝ่ายยึดติด ฝ่ายมัวเมา อันได้ชื่อมากมายหลายอย่าง คือ ฉันทะ ราคะ เป็นต้น จนกระทั่ง ที่ถูกจัดไว้ในหมวดธรรมฝ่ายกิเลสมีกามฉันทนิวรณ์เป็นที่สุดท้ายนั้น ก็รวมเรียกไว้โดยชื่อว่า กิเลสกาม. และเมื่อกล่าวโดยสภาวะคือ โลภะนั่นเอง ที่ใช้ชื่อว่า ฉันทราคะ ในที่นี้.

สรุปลงได้ ๒ ประการ คือ กิเลสกาม ได้แก่ ความใคร่ ความยินดีติดใจในอารมณ์ และ วัตถุกาม ได้แก่ ธรรมเป็นที่ตั้งหรือเป็นเหตุแห่งความใคร่. เมื่อกล่าวโดยสภาวธรรมแล้ว กิเลสกาม ได้แก่ โลภะ คือ ฉันทราคะ และ วัตถุกาม ได้แก่ เตภูมกวัฏฏะ ธรรมที่เป็นไปกับวัฏฏะในภูมิ ๓.

ขอฝาก #ปัญหาน่าสงสัยไว้ ๒ ข้อ

๑. ธรรม ๑๐ อย่างคือ  โลภะ โทสะ โมหะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา เป็นต้นก็ถูกเรียกว่า กิเลส เหมือนกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ โทสะ และ โมหะ เป็นต้น ก็น่าจะเป็น กิเลสกามด้วยมิใช่หรือ เหตุไร ท่านจึงบอกว่า ฉันทราคะนั่นเอง กล่าวคือ โลภะ เป็นกิเลสกามในที่นี้.?

๒. น่าจะจัดกามทั้งหลายโดยย่อว่า วัตถุกาม อย่างเดียว โดยความเป็นสิ่งที่ถูกใคร่ ไม่จำเป็นต้องจัดเป็น ๒ อย่าง เพราะกิเลสกาม อาจถูกใคร่ เพราะเป็นสิ่งน่ายินดีพอใจ เหมือนอย่างกิเลสเหล่าอื่นที่เหลือก็ถูกยินดีพอใจได้ เพราะฉะนั้น กิเลสกามก็ควรรวมไว้ในวัตถุกาม เหตุที่ถูกใคร่ เช่นเดียวกับที่ในบางแห่งสงเคราะห์แม้ปัญญาเข้าในคำว่า เญยยะ เพราะเป็นสิ่งที่ควรรู้ อันเป็นอารมณ์ของปัญญาด้วย ?


ท่านทั้งหลายค้นหาคำตอบไปพลางก่อน 

ขออนุโมทนา 

สมภพ สงวนพานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น