วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๑๙ : ลักขณาทิจตุกกะของกุศล นัยที่ ๑ (ต่อ)

#๑๙อภิธัมมาวตาราวตาร : เพื่อเข้าถึงคัมภีร์อภิธัมมาวตาร
กุศลชาติ : ลักขณาทิจตุกกะของกุศล นัยที่ ๑ (ต่อ)

คำว่า กุสลํ อนวชฺชอิฏฺฐวิปากลกฺขณํ มีคำแปลได้หลายอย่าง ผู้ศึกษาอาจเข้าถึงความหมายได้หลายแนวทาง เมื่อคราวที่แล้วมานำเสนอได้ ๒ แนวคือ

๑) กุศล มีธรรมไม่มีโทษซึ่งมีวิบากน่าปรารถนาเป็นเครื่องกำหนดจดจำ.
๒) กุศล ถูกกำหนดจดจำไว้โดยเป็นธรรมไม่มีโทษซึ่งมีวิบากน่าปรารถนา
คราวนี้จะนำเสนอคำแปลอีกแนวทางหนึ่ง ซึ่งคัมภีร์ฎีกาอภิธัมมาวตารได้แนะนำไว้

“กุศล มีความไม่มีโทษและความมีวิบากน่าปรารถนา เป็นเครื่องกำหนดจดจำ”.

ความต่างกันของความหมายที่แล้วกับความหมายนี้ อยู่ตรงนี้

๑) คำว่า ไม่มีโทษ ในที่นี้ หมายถึง สภาพที่ไม่มีโทษ ไม่ใช่ตัวธรรมที่มีโทษเหมือนเมื่อคราวที่แล้วมา แม้คำว่า มีวิบากน่าปรารถนา ก็เช่นกัน ไม่ใช่ตัวธรรมที่มีวิบากน่าปรารถนา แต่หมายถึง สภาพที่มีวิบากน่าปรารถนา.
๒) ท่านผู้สันทัดในภาษาบาฬี เมื่อพินิจคำจำกัดความนี้จะทราบได้ทันทีว่า คำว่า ลักษณะ ในที่นี้ มีอรรถกรณะ เรียกว่า กรณสาธนะ หมายถึง คำศัพท์นี้มีฐานะเป็นเครื่องมือช่วยให้กัตตาทำกิริยาได้สำเร็จ. ในที่นี้ ความไม่มีโทษและความมีวิบากน่าปรารถนานั่นเอง ช่วยให้กำหนดจดจำธรรมนี้ได้ว่า เป็นกุศล ด้วยเหตุนี้ ความไม่มีโทษเป็นต้นนั้น จึงชื่อว่า เป็นลักษณะ.

เป็นอันว่า ธรรมคือกุศล ถูกกำหนดด้วยความไม่มีโทษและมีวิบากน่าปรารถนาประการหนึ่ง หรือจะกล่าวว่า มีความไม่มีโทษและมีวิบากน่าปรารถนาเป็นตัวช่วยให้กำหนดจดจำได้ อีกประการหนึ่ง.

ท่านทั้งหลายเห็นว่า ความหมายใด เป็นเหตุให้เข้าใจกุศลได้ง่าย ก็จดจำความหมายนั้นไว้เถิด แต่อีกความหมายหนึ่งก็ไม่ผิดพลาดแต่ประการใด.

ขออนุโมทนา
 สมภพ สงวนพานิช.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น